เอกชนเด้งรับวัยเกษียณ อัดงบนวัตกรรมป้องกัน-รักษา

26 ส.ค. 2565 | 04:30 น.

รพ.ดัง ขานรับไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ปั้นนวัตกรรม เพื่อสุขภาพดี “ไทยนครินทร์” ทุ่ม 250 ล้านตั้งศูนย์รังสีรักษามะเร็ง “PRINC” ชูศาสตร์ไคโก โดะ ฟื้นฟูผู้ป่วยสโตรก “KDMS” ชูบริการเฉพาะกระดูก-ข้อ “โรช” อัดงบกว่า 4 แสนล้านจัดเต็ม R&D “ราชวิถี” ดึง AI รักษาตาผู้ป่วยเบาหวาน

การนำเสนอนวัตกรรม เพื่อสุขภาพที่ดี กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เพราะการดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดโรค จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในการรักษาวันนี้ผู้ประกอบการจึงต่างนำเสนอ นวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อดูแลและป้องกัน รวมถึงใช้รักษาเมื่อเกิดโรค ได้อย่างน่าสนใจบนเวทีสัมมนาในหัวข้อ “Health & Wealth Forum สร้างสุขก่อนสูงวัย” จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ เนชั่นทีวี 22 และสปริงส์

 

ทุ่ม 250 ล้านตั้งศูนย์รังสีมะเร็ง

นายฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหาร บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อตอบโจทย์คนไข้ ที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ มีบริการดีอย่างครบครัน พร้อมด้วยทีมแพทย์-พยาบาลเฉพาะทาง โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จึงมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางถึง 30 ศูนย์

 

เพื่อยกระดับการรักษาให้เทียบเท่ามหาวิทยาลัยการแพทย์ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี อุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ ทำสามารถทำเคสที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น กระดูกทับเส้นประสาท ที่ทำให้กลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว การรักษาข้อเข่าด้วยกล้องส่องผ่าตัด หรือการรักษาโรคไต ได้รับอนุญาตให้เป็นศูนย์เปลี่ยนไต ดูแลไตวายเรื้อรัง

ฐิติ สิหนาทกถากุล            

“นอกจากการรักษาโรคแล้ว สุขภาพต้องคู่กับจิตใจ จึงได้ตั้งศูนย์สุขภาพองค์รวม หรือ Wellness Center ขึ้น เพื่อรองรับการฟื้นฟูสุขภาพคนไข้หลังการผ่าตัดและกระบวนการรักษา มีการดูแลด้านโภชนาการ กิจกรรมบำบัดต่างๆ ซึ่งมีกระแสตอบรับอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังโควิด-19 ที่คนตระหนักถึงเรื่องของสุขภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมโรงพยาบาลให้เป็นชุมชนสุขภาวะ หรือ Health Society

          

ล่าสุดไทยนครินทร์ได้ลงทุน 250 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์รังสีรักษามะเร็ง เพื่อให้บริการในราคาที่ไม่สูงเกินไป เป็นทางเลือกเพิ่มให้คนไข้เพื่อลดความแออัดจากการไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งพร้อมจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 นี้”

เอกชนเด้งรับวัยเกษียณ อัดงบนวัตกรรมป้องกัน-รักษา

ชูโมเดลญี่ปุ่นฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงวัย

ขณะที่การฟื้นฟูผู้สูงวัย เป็นอีกหนึ่งบริการที่มีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยนายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) กล่าวว่า การดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุมีความสำคัญมากเพราะประเทศไทยก็กำลังจะเข้าสู่ Aging Society ซึ่งผู้สูงวัยส่วนมากจะมีอาการสโตรกหรือสมองถูกทำลายจนมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ถ้าสามารถฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติในปัจจุบัน

 

โดย PRINC ร่วมมือกับ นิปปอน เคอิกรุ๊ป ซึ่งมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุโดยใช้ศาสตร์เฉพาะทางที่ “ไคโก โดะ” มาเป็นโมเดลจัดตั้งศูนย์ PNKG เพื่อให้บริการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยสโตรกโดยเฉพาะ และผู้ป่วยหลังผ่าตัด ซึ่งจริงๆแล้วที่ผ่านมา Early Care ในไทยจะเป็นการดูแลผู้ป่วยในระยะยาวหรือบ้านพักคนชรา แต่ศาสตร์การดูแลแบบ “ไคโก โดะ” เป็นการฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาและใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ธานี มณีนุตร์            

“PNKG ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีก่อน โดยรพ.เน้นส่งทีมงานไปฝึกที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อเรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นและนำมาใช้งานในประเทศเรา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีทั้งทีมญี่ปุ่นมาประจำการและทางทีมเราไปเทรนที่ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเราต้องยอมรับว่ามาตรฐานการศึกษาเรื่องของกายภาพและการฝึกฝนการดูแลผู้ป่วยสโตรก ศาสตร์ของเรากับศาสตร์ของเขาไม่เท่าเทียมกัน”

 

แนะเคล็ดลับห่างไกลโรคกระดูก-ข้อ

หนึ่งในปัญหาที่ผู้สูงวัยเผชิญคือ อาการปวดตามข้อ ข้อเสื่อม ปวดหลัง ปวดกระดูก การบริการทางการแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ จึงเกิดขึ้น โดยนพ.ธนพล หวังธีระประเสริฐ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข จำกัด (KDMS) กล่าวว่า ปัจจุบันโรคทางกระดูกและข้อ ที่พบมากในผู้สูงอายุ ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดคอ ร้าวลงขา ชา อ่อนแรง กระดูกสันหลังเสื่อม คอ เอว กระดูกพรุน กระดูกยุบ กระดูกสะโพกหัก ข้อไหล่เสื่อม เอ็นข้อไหล่ฉีก พังผืด ฯลฯ

 

สำหรับเคล็ดลับการห่างไกลจากโรคกระดูกและข้อ ในส่วนปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้มีกระดูกหรือมวลกระดูกที่ดี เริ่มตั้งแต่อาหาร ต้องทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (Strength Training) ที่จะทำให้มีกล้ามเนื้อ ที่ดีมาซัพพอร์ตกระดูกและข้อจะทำให้โรคของกระดูกและข้อลดลง รวมถึงการมีกล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงจะทำให้ข้อรับน้ำหนักน้อยลง เสื่อมช้าลง ไม่ต้องผ่าตัด การควบคุมน้ำหนัก เพราะน้ำหนักตัวที่มากจะทำให้กระดูกข้อรับน้ำหนักมากกว่าปกติ 4 เท่า

นพ.ธนพล หวังธีระประเสริฐ            

“หากเป็นโรคทางกระดูกและข้อ ขอแนะนำมารักษาที่ KDMS ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อครบวงจรโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง ด้วยนวัตกรรมลงลึกในการรักษา เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยการส่องกล้อง การใช้โรบอติก ทั้งนี้การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ณ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่าย 2-3 แสนบาทต่อข้าง ดังนั้นในภาพใหญ่อยากให้รัฐบาลเน้นเรื่องการป้องกัน ไม่ให้คนป่วยหรือเป็นโรค จากที่ผ่านมาเน้นเรื่องโรงพยาบาล ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการป้องกัน”

 

ทุ่ม 4 แสนล้านเดินหน้า R&D

นายฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมา กัมพูชา และลาว กล่าวว่านวัตกรรมเทคโนโลยีจะทำให้แนวทางการดูแลสุขภาพในอนาคตนั้น มีความแม่นยำมากขึ้น มีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น และจะทำให้แพทย์สามารถตรวจพบและวินิจฉัยโรคได้ทั้งในเชิงป้องกัน และทันเวลา โรชเองก็เป็นบริษัทยาและเวชภัณฑ์ระดับโลกที่ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับ การวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนายาและการรักษาแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการลงทุนในด้านนี้ปีละไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านฟรังก์สวิส หรือกว่า 4.51 แสนล้านบาท

ฟาริด บิดโกลิ

เกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัยในไทยนั้น เขากล่าวว่า การดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยถือเป็นความท้าทาย แต่เราก็ควรให้ความสำคัญกับสุขภาพของกลุ่มประชากรในทุก ๆวัยด้วย เพราะคนอายุน้อยกว่าก็จะต้องเป็นพลังสำคัญในการดูแลประชากรกลุ่มผู้สูงวัย จึงควรต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านสาธารณสุขหรือสวัสดิการด้านสุขอนามัยสำหรับประชากรทุกวัย รัฐบาลอาจจะต้องทุ่มลงทุนกับงบด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองสุขภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น

 

AI นวัตกรรมดูแลสุขภาพสายตา

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพตาของเมืองไทยอย่าง “ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข” นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงนวัตกรรมสุขภาพโดยเฉพาะดวงตาในผู้สูงอายุว่า คนไทยยังขาดการตระหนักรู้เรื่องการดูแลสายตา

ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข

เพราะบางคนมองว่าเมื่ออายุมากขึ้นปัญหาสายตาเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถดูแลสายตาตั้งแต่อายุยังน้อย ปัจจุบันเรื่องการตรวจสายตาผู้ป่วยเบาหวานในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมการอ่านภาพซึ่งสามารถดูผลเบื้องต้นระดับหนึ่ง มีความแม่นยำประมาณ 80% เมื่อเทียบกับการตรวจกับจักษุแพทย์

           

แต่จะต้องมีการฝึกอบรมทุกปี จึงมีการหันมาใช้ในปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยอ่านภาพ ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีได้ทำวิจัยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยในเดือนตุลาคม นี้ จะมีการใช้ AI ในการช่วยอ่านภาพดวงตาของผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา ซึ่งมีความแม่นยำประมาณ 90% ซึ่งมากกว่าบุคลากรที่อบรมทั่วไป