ICHI เปิดพอร์ตใหม่ CSD พร้อมเจาะตลาดฟิลิปปินส์เพิ่มดันยอดขาย 6,500 ลบ.

23 ส.ค. 2565 | 12:07 น.

ICHI แตกไลน์สินค้าใหม่เติมพอร์ต กลุ่ม Non-Tea เตรียมเปิดตัวเครื่องดื่มอัดก๊าซ (CSD) ภายใต้แบรนด์น้องใหม่ “TANSUNSU (ตันซันซู)” เจาะตลาดวัยรุ่นชิงส่วนแบ่งการตลาดมูลค่ากว่า 31,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมส่งอิชิตัน น้ำด่าง 8.5 + CBD นำขบวนเจาะตลาดกัญชงต่อเนื่อง

“อิชิตัน” เผยกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ดันรายได้โตต่อเนื่อง สินค้าในประเทศโตสวนตลาด กำลังผลิตเพิ่มสูงสุด ส่งผลช่วยต้นทุนต่อขวดลด เดินหน้าบุกตลาด CSD ด้านธุรกิจ OEM ปิดดีล 2 ลูกค้าใหม่ ในขณะที่อิชิตัน อินโดฯ โตเท่าตัว แถมเจาะตลาดใหม่ที่ฟิลิปปินส์ เพิ่มช่องทางการขายอีกกว่า 1,300 แห่ง หนุนฐานกำไรระยะยาว 

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI เปิดเผยภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกแข็งแกร่ง มีรายได้จากการขาย 3,058.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% กำไรสุทธิ 256.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 8.4% โดยรายได้เติบโตสวนทางตลาดเครื่องดื่มประเทศไทย

และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ด้วยความแข็งแกร่งของช่องทางการขาย Traditional Trade และความเป็นแบรนด์ยอดนิยมครองใจคนไทยอันดับ 1 ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน พร้อมย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์ “3N” (New Product, New Market, New Business) ก้าวสู่การเติบโตของยอดขายระดับ 6,500 ล้านบาท หรือโต 24% จากปีก่อนตามที่วางไว้

 

โดยกลยุทธ์ New Product จะเริ่มรับรู้รายได้จากการเปิดตัวสินค้าใหม่ ได้แก่ การเปิดตัว เย็นเย็นรสบ๊วย+สมุนไพร เพื่อผลักดันให้เป็น Top3 SKU ในตลาด RTD Tea และ ICHITAN No Sugar ชาเขียวเพื่อสุขภาพ สูตรน้ำตาล 0% และ 0 แคลอรี จับเทรนด์ดูแลสุขภาพของผู้บริโภค

 

ขณะที่ ไฮไลท์ในกลุ่ม Non-Tea เตรียมเปิดตัวเครื่องดื่มอัดก๊าซ (CSD) ให้เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่เจาะตลาดวัยรุ่น กับแบรนด์น้องใหม่ “TANSUNSU (ตันซันซู)” มาพร้อมคอนเซ็ปต์เครื่องดื่มอัดลมที่ถือเท่ห์แบบ K-Pop ชิงส่วนแบ่งการตลาด ด้วยมูลค่ากว่า 31,000 ล้านบาท เปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ วางเป้าพายอดขายไปถึง 500 ล้านบาทต่อปี ด้านเครื่องดื่มกลุ่ม CBD เตรียมส่งอิชิตัน น้ำด่าง 8.5 + CBD ผสานคุณค่าจากน้ำด่างและ CBD สารสกัดธรรมชาติจากกัญชง มานำขบวน

 

ด้านกลยุทธ์ New Market ภาพรวมตลาดส่งออกมีการทำแคมเปญเข้มข้น รับการเปิดประเทศ และการผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะใน CLMV คาดว่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ขณะที่ความสำเร็จของบริษัทร่วมค้า อิชิตัน อินโดนีเซีย ส่งสัญญาณบวกต่อเนื่อง รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า 44.6 ล้านบาท เติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน 100.9% เนื่องจากการปรับแผนธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย และประสบความสำเร็จจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ไทย พร้อมส่งผลิตภัณฑ์ใหม่บุกตลาดในกลุ่มชาไทย และกาแฟโคลด์บริว ก้าวต่อไปที่ใหญ่กว่าเดิมกับการนำชาไทยจากอิชิตัน อินโดนีเซีย ขยายไปเปิดตลาดใหม่ที่ฟิลิปปินส์ ผ่าน Alfamart กว่า 1,300 สาขา ภายใต้ความสนับสนุนจาก SM Group -Supermarket ใหญ่ที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ และ Rebisco Philippines เชื่อจะเป็นการสร้างฐานกำไรส่งกลับมาให้อิชิตันกรุ๊ป อย่างมีนัยสำคัญ โดยวางเป้ารับรู้ส่วนแบ่งกำไรกลับมาที่อิชิตัน กรุ๊ป ขั้นต่ำที่ราว 75 ล้านบาทในปี 2565 ด้านการขยายไลน์สินค้าเขย่าตลาดไอศกรีมยังไปได้สวย กับ “ไอศกรีมเนสท์เล่อิชิตัน ชาเขียว ฮันนี่เลมอน” ภายใต้การร่วมมือระหว่าง อิชิตัน และเนสท์เล่ ได้รับการตอบรับดีเกินคาด พร้อมต่อยอดสินค้าใหม่ “ไอศกรีมเนสท์เล่ชาเขียวชิซึโอกะ” ขยายการรับรู้ผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดใหม่ที่ไม่เคยไป

 

ธุรกิจ OEM ล่าสุด ปิดดีลลูกค้าใหม่เพิ่ม 2 ราย ได้แก่ เครื่องดื่ม Acer Predator Shot Vitamin Drink โดย บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด และ Thaitanium Power Energy Drink เตรียมวางตลาดเร็วๆ นี้ สนับสนุนการใช้อัตราการกำลังการผลิตสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) มากขึ้น จากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาใช้อัตรากำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 8% ช่วยต้นทุนต่อขวดลดลง

 

ในไตรมาส 2/2565 อิชิตันเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่ผ่านมา ทั้งรายได้ และกำไร จากปัจจัยฤดูกาลเข้าสู่ไฮซีซั่น มีรายได้จากการขาย 1,616.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 12.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) โดยยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 11.4% มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 152.5 ล้านบาท ลดลง 7.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เพิ่มขึ้น 46.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) และคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 9.4% สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ไตรมาส 2/2565 ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ด้านต้นทุนในการจัดจำหน่ายลดลง จากการปรับแนวทางมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

ขณะที่ข้อมูลจาก Nielsen เผยถึงภาพรวมตลาดชาพร้อมดื่มในงวดครึ่งปีแรก 2565  เติบโตขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 20.4% มีมูลค่าตลาดชาพร้อมดื่มอยู่ที่ 6,865 ล้านบาท แข็งแกร่งกว่ากลุ่มเครื่องดื่มโดยรวม