ฮัทชิสัน พอร์ท พัฒนาทีมจาก ยูสเซอร์ สู่...ครีเอเตอร์ 

29 ก.ค. 2565 | 22:58 น.

ความล้ำหน้าของเทคโนโลยี คือหัวใจที่ทำให้ธุรกิจในยุคปัจจุบันและต่อจากนี้ ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ หากคนมีความสามารถที่จะเลือกใช้และพัฒนาเข้ามาตอบสนองระบบงานขององค์กรได้เต็มที่

เรื่องนี้ทีมบริหาร และ “อาณัติ มัชฌิมา” ประธานบริหารงานทั่วไป กลุ่มบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เข้าใจดี และเลือกที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจอย่างเต็มที่
 

ด้วยความที่ร่วมงานกับ กลุ่มบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2546 ทำให้ “อาณัติ” เข้าใจถึงระบบงานของ กลุ่มบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท อย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจท่าเทียบเรือสินค้าของบริษัทฯ ให้เติบโตมาต่อเนื่อง ด้วยจำนวน 2 พอร์ต 6 ท่าเทียบเรือ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ด้วยจำนวนพนักงานอีกกว่า 1,400 คน

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เริ่มคอนเวิร์ส (Converse) ระบบการทำงานมาเป็นไฮบริดตั้งแต่ปี 2556 ด้วยการเลือกใช้ก๊าซเอ็นจีวี ใช้พลังงานไฟฟ้า แทนพลังงานน้ำมัน โดยคาดว่าการปรับเปลี่ยนและขยายการลงทุน จะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยงบลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือ 580 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการพัฒนาปรับเปลี่ยนเหล่านี้ ไม่เพียงเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลให้กับธุรกิจของฮัทชิสัน พอร์ท หากแต่เป็นการพัฒนาและสร้างบุคลากรคุณภาพไปด้วยพร้อมๆ กัน 
 บางเทคโนโลยีทีมงานของฮัทชิสัน พอร์ท คิดค้นขึ้นมาเอง เขียนโปรแกรมเอง โดยทีมงานที่เข้าใจระบบและพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการทำงาน และยังสามารถนำเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเองนี้ ไปปรับใช้กับ ฮัทชิสัน พอร์ท ในประเทศอื่นๆ ได้ ถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับองค์กร 
 

“ที่นี่เปิดกว้างให้พนักงานนำเสนอไอเดีย เพราะคนเป็นกำลังหลักสำคัญ เราพัฒนาคนจากยูสเซอร์ให้เป็นครีเอเตอร์ เขามีความคิดริเริ่ม การพัฒนาธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะคนของเรา ทำให้สามารถขยายงานและเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์เหล่านั้น ไปใช้ในสถานที่ต่างๆ ได้ การปรับเปลี่ยนของเรา ทำให้คนของเราพัฒนาได้ด้วย เหมือนการพัฒนาคนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจริงๆ เราทำมาก่อนอีอีซีด้วย” 

นโยบายนี้ ฮัทชิสัน พอร์ท ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจในประเทศ พร้อมๆ กับช่วยผลักดันความก้าวหน้าให้กับประเทศไทย โดยบริษัทฯ มีการพัฒนาต่อเนื่อง กล้าลงทุน กล้าซื้อเทคโนโลยี ซึ่งมีส่วนในการพัฒนารากฐาน คือ เรื่องคน และเทคโนโลยีต่างๆ ในการใช้งาน มายด์สโตนในการทำธุริกจของฮัทชิสัน พอร์ท ไม่ใช่เพีียงแค่ทำกำไร แต่เงินที่ได้มาต้องนำมาขยายการลงทุนและพัฒนาอะไรใหม่ๆ ซึ่งบริษัทฯ ยังมีแผนต่อยอดทั้งเรื่องของคน และเทคโนโลยี เพื่อการสร้างธุรกิจและสังคมที่ยั่งยืน


 “อาณัติ” ยืนยันว่า ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนสู่ระบบไฮบริดในการทำงาน บริษัทไม่ได้เอาคนออก แต่มีการพัฒนาเพิ่มทักษะพนักงาน เพื่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี และพร้อมส่งเสริมเมื่อพนักงานมีไอเดียสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาใช้งานในองค์กร และพนักงานยังสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์กับที่บ้านได้ เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยอีกทางหนึ่ง 
 จากแนวทางการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของฮัทชิสัน พอร์ท ทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับงานและทีมงาน รวมถึงลูกค้าที่ได้ประโยชน์ ใช้บริการที่สะดวกสบายมากขึ้น มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นประโยชน์ต่อการขยายธุรกิจของฮัทชิสัน พอร์ทให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต 


การลงทุนด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี สู่ธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจเพื่อความยั่งยืน คือส่วนหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน “อาณัติ” บอกว่า จากความต้องการใช้บริการท่าเทียบเรือ คู่ค้าจะเลือกจากความสามารถด้านบริการที่ตอบโจทย์ธุรกิจของเขา เทคโนโลยีดีไหม ปกป้องสินค้าของเขาได้ดีแค่ไหน เรือมาตรงเวลาไหม ทำให้เขาสามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ตามกำหนดหรือเปล่า หากตอบโจทย์และทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับเขาได้ เขาก็พร้อมที่จะเลือกใช้บริการ 


สำหรับฮัทชิสัน พอร์ท ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากคู่ค้า ครึ่งปีที่ผ่านมาเติบโตเกิน 5% ส่วนปี 2564 เติบโต 10% ด้วยสัดส่วนลูกค้าที่หลากหลาย ทำให้ธุรกิจของบริษัทน สามารถผ่านพ้นสภาพผิดปกติบางอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย- ยูเครน หรือโควิด -19 และจากแนวทางการบริหาร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว “อาณัติ” เชื่อมั่นว่า ธุรกิจ
ฮัทชิสัน พอร์ท จะเดินหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,804 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565