PacRim โฟกัสธุรกิจเทรนนิ่ง สร้างความเชื่อมั่น-ทรานสฟอร์มตัวเองต่อเนื่อง

25 มิ.ย. 2565 | 04:40 น.

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ และเกิดได้กับทุกคน ทุกองค์กร จากไครซิสต้มยำกุ้งของไทย ทำให้ “พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์”ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ “แพคริม กรุ๊ป”ได้เรียนรู้และปรับองค์กร

จากบริษัทรีครูทเม้นท์ (Recruitment Agency) สู่บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและการเทรนนิ่ง ที่ปัจจุบันประสบความสำเร็จองค์กรชั้นนำเกือบ 1,000 องค์กรให้ความไว้วางใจและใช้บริการ

 

“พรทิพย์” เล่าย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่แพคริมก่อตั้งขึ้น เป็นแอดเวอร์ไทซิ่งที่มาช่วยงานเอชอาร์ สร้างองค์กรที่ดึงดูดคนมาทำงาน เปลี่ยน classified ads ตัดคำว่า ประกาศ ออก พรีเซ็นต์นายจ้างให้น่าสนใจ และน่าทำงานด้วย ทำให้ปีแรกของแพคริมมีลูกค้าใช้บริการกว่า 100 ราย แต่เมื่อเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เกือบ
ทุกบริษัทเอาคนออก แพคริมก็ตกงานเช่นกัน 

“แต่ไครซิสสร้างโอกาสใหม่ ทำให้ได้รู้จัก 7 Habbits ของ Stephen R. Covey หลักสูตรนี้ชนะใจ และนี่คือโอกาสของเรา เรารู้สึกว่าทรานสฟอร์มชีวิตเรา ตอนนั้นคือปี 2541 เราติดต่อเขาไป แต่เขาไม่สนใจและไม่รู้จักเรา ใช้เวลา 2 ปี แล้วก็สามารถทำให้เขายอมรับได้ เขาไว้ใจกับอาชีพที่เราไม่เคยทำ”

PacRim โฟกัสธุรกิจเทรนนิ่ง สร้างความเชื่อมั่น-ทรานสฟอร์มตัวเองต่อเนื่อง
ซีอีโอ แพคริม บอกว่า เธอมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองต้องสามารถทำได้ การที่จะทรานสฟอร์มจากรีครูทเม้นท์คัมปานี มาเป็นบริษัทเทรนนิ่ง ด้วยโฟกัสที่ชัดเจน ทำให้ปี 2543 แพคริมจึงได้เป็น เอ็กคลูซีฟ แฟรนไชส์กับ “แฟรงคลิน โควีย์” (FranklinCovey) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่มีเครือข่าย 160 ประเทศ

“จริงๆ แล้วตลาดรีครูทเม้นท์สำคัญมาก ที่มาเริ่มธุรกิจด้วยตัวนี้ เพราะเราเชื่อว่า องค์กรต้องมีคนที่ใช่ จึงจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ และชนะคนอื่นได้ เพราะฉะนั้น สิ่งแรกเลยคือ รีครูทเม้นท์ เราสร้างความน่าเชื่อถือให้คนและองค์กร เพื่อดึงดูดคนมาทำงานกับเราได้ แต่ถ้ามาแล้วคนอยู่กับเราไม่ได้ ตรงนั้นก็เป็นปัญหาอีก เราก็เลยมาคิด ถึงเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร พัฒนาผู้นำ เพื่อรักษาคนเก่งไว้ให้ได้ ไม่งั้นต้องไปจ้างเฮดฮันต์ อาจเสียเงินเป็นล้านเพื่อหาคน แต่อยู่แค่ 6 เดือนเขาก็ไป แบบนี้องค์กรก็ยิ่งเสียหาย” 


ดังนั้น ความสำเร็จขององค์กร จึงต้องมีทั้ง 2 ส่วน ทั้งการคัดเลือกคนที่ใช่ และการสร้างคน พัฒนาวัฒนธรรมองค์กร พัฒนาผู้นำ เพื่อดึงดูดให้คนดีๆ ที่ใช่ อยู่กับองค์กรไปนานๆ เพราะการที่จะรักษาคนดีๆ เก่งๆ ไว้ได้ องค์กรนั้นก็ต้องเป็นองค์กรที่ใช่และจริงสำหรับพนักงานคนนั้นๆ ด้วย

 
แต่ในการบริหารองค์กรต้องโฟกัสชัดเจน “พรทิพย์” บอกว่า การที่เธอต้องเลือกเฉพาะธุรกิจเทรนนิ่ง หรือการพัฒนาองค์กรเพียงอย่างเดียว โดยยกเลิกส่วนของรีทรูทเม้นท์ออกไป เป็นเพราะการจะทำธุรกิจให้ดีประสบความสำเร็จ ผู้นำต้องมีโฟกัสที่ชัดเจน และทำสิ่งที่โฟกัสนั้นให้ดีที่สุด...ถ้าเราจะกระโดดไปเรืออีกลำ เราจะทำอย่างไร เราไม่มี resource พอจริงๆ เราเป็นบริษัทเล็ก ทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด และเมื่อกำลังเรียนรู้เรื่องใหม่ เราต้องโฟกัส และทุ่มกับเรื่องนั้น 100% 


เมื่อกระโดดสู่เรือลำใหม่แล้ว สิ่งที่ “พรทิพย์” เห็นคือโอกาสมหาศาล เพราะตลาดการพัฒนาคน เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง และทำไม่มีวันจบ แพคริมเอง ก็ต้องทรานสฟอร์มตัวเองตลอดเวลาเช่นกัน การสร้างทีมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโลกปัจจุบัน One Man Show ไม่สามารถอยู่รอด ซีอีโอแต่ละองค์กรมีปัญหา ยิ่งในช่วงที่เกิดไครซิสที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะจบ หรือไม่รู้จะมีไครซิสใหม่เกิดขึ้นเมื่อไร และจะเป็นอย่างไร การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร และการสร้างคนจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 
  PacRim โฟกัสธุรกิจเทรนนิ่ง สร้างความเชื่อมั่น-ทรานสฟอร์มตัวเองต่อเนื่อง

สิ่งที่แพคริมโฟกัส จึงมี 4 เรื่องสำคัญคือ

  1. ช่วยสร้างผู้นำ ทุกระดับในองค์กร
  2. สร้างคนในองค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ มีมายด์เซ็ทที่พร้อมไปกับผู้นำได้
  3. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความไว้วางใจกัน และทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
  4. ช่วยองค์กรในการนำกลยุทธ์ มาปฏิบัติและนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ปีนี้

 

แพคริมครบรอบ 30 ปี บริษัทยังได้จัดทำ e-book และวิดีโอ ภายใต้ชื่อธีม “Decoding the Great and Enduring: Wisdom from 30 Leaders” สัมภาษณ์ 30 ผู้นำองค์กร ในมุมของการนำตนเอง นำทีมงาน และนำองค์กร ทั้งในช่วงเวลาที่ดี และช่วงเวลาวิกฤต และยัง “พอล วอล์คเกอร์” ซีอีโอ ของ “แฟรงคลิน โควีย์” จะมาให้มุมมองในระดับโกลบอลด้านแนวทางการพัฒนาผู้นำรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคต รวมทั้งบทเรียนจากโควิด-19 ผ่านการสัมภาษณ์สดจาก Salt Lake City, สหรัฐอเมริกา ในงานวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 พร้อมกันนี้ แพคริมยังจัดสัมมนาต่อเนื่องอีก 3 ครั้งภายในปีนี้ 

 

 “พรทิพย์” ยังกล่าวอีกว่า การทำงานของแพคริมทุกวันนี้มีความท้าทายมากมาย เพราะโลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน และปัญหาใหญ่ขององค์กรไทยตอนนี้คือ การขาด successor ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวขององค์กร ที่ต้องสร้างให้เป็นกลยุทธ์สำคัญขององค์กร ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ทของคน งานการพัฒนาคน คือการสร้างอนาคตองค์กร เพราะฉะนั้น แพคริมต้องได้รับความไว้วางใจ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำองค์กรต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับ...เราต้องทำตัวให้คู่ควรกับการไว้วางใจ 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,794 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565