มุมที่แตกต่าง เจน 2 BLAND  ผู้สร้างอาณาจักร ‘อิมแพ็คเมืองทองธานี’

28 พ.ค. 2565 | 11:38 น.

“อิมแพ็คเมืองทองธานี” อาณาจักรขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ ที่ อนันต์ กาญจนพาสน์ บุกเบิกสร้างเป็นเมืองที่มีพร้อมทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม แหล่งช้อปปิ้ง ศูนย์อาหาร

ซึ่งขณะนี้ “พอลล์ กาญจนพาสน์” ได้ขึ้นมาทำหน้าที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ Bland ในฐานะทายาทรุ่นที่ 2

 

“พอลล์” เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ อนันต์ กาญจนพาสน์ เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลสองธุรกิจคือ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น และ บางกอกแลนด์ ตั้งแต่ปลายปี 2563 หลังจากคลุกคลีบริหารธุรกิจต่างๆ มากว่า 20 ปี และต้องยอมรับว่า ระหว่างที่เขาเข้ามาทำหน้าที่บริหารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น และบางกอกแลนด์ ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมาก ด้วยสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่นานาประเทศมีการล็อกดาวน์ ธุรกิจการค้าหลายอย่างชะงักงัน

 
 ในมุมธุรกิจ “พอลล์” ยอมรับว่า เหนื่อยมาก แต่ขณะนี้รัฐบาลเปิดประเทศแล้วอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง โดยส่วนของอิมแพ็คภาพรวมของการประชุม และเอ็กซิบิชั่น ตอนนี้อัตราการเช่าหรือใช้พื้นที่ (Occupancy rate) ยังว่างอยู่ประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปี 2019อัตราการเช่าพื้นที่อยู่ที่ 58% สำหรับปีนี้ตลอดทั้งปีหากสามารถกลับมาที่ 55% ก็ถือว่าแฮปปี้แล้ว ตอนนี้จึงพยายามโฟกัสพูดคุยกับประเทศที่เปิด และพยายามคุยกับจีน เพื่อรองรับเมื่อเขาพร้อมเปิดประเทศ ส่วนที่ดูว่าเริ่มไปได้ดีตอนนี้คือคอนเสิร์ต ที่เปิดใช้พื้นที่ได้เต็ม 100% คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ จะกลับมาปกติ


ระหว่างที่ธุรกิจกำลังค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง เขายังขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 13 แบรนด์ 29 ร้านในเครือ และยังเตรียมเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารเลอโนทที่ได้แฟรนไชส์จากฝรั่งเศสเข้ามาเปิดที่อิมแพ็คในเดือนตุลาคม 2565 รวมถึงการเตรียมลงทุนใหญ่ในรูปแบบมิกซ์ยูสบนพื้นที่อีก 500 ไร่ เพื่อรองรับรถไฟฟ้าและการขยายตัวของเมือง


ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ การขยับตัวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปิดตัวโครงการเพื่อสังคม “อิมแพ็ค ฟาร์ม” ส่งตรงผัก ผลไม้ออแกนิคจากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ถึงบ้าน เพื่อร่วมส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดี ด้วยวิธีที่ง่ายดายเพียงสั่งล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ https://impactyummy.foodie-delivery.com/#/home หรือทาง LINE: @impactmuangthong 
 

นอกจากนี้ ยังได้นำผลผลิตมาต่อยอดในการมอบสุขภาพที่ดีสำหรับลูกค้าร้านอาหารในเครืออิมแพ็ค และอิมแพ็ค แคเทอริ่ง ด้วยการนำวัตถุดิบจากฟาร์มมารังสรรค์เมนูผักและผลไม้เพิ่มความอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ปรับนำผลิตผลออแกนิค มาทำเมนูร้านอาหารในเครือแล้วกว่า 60% 
 

“ผมอินกับการทำเกษตรมาก ชาติที่แล้วผมเป็นเกษตรกร” ซีอีโอ BLAND พูดติดตลก พร้อมเล่าถึงที่มาว่า เกิดจากความรักในธรรมชาติของลูก 3 คน และเมื่อมีโอกาสได้ไปสัมผัสและพูดคุยกับคุณชนินทธ์ โทณวณิก เจ้าของโรงแรมดุสิตธานี และได้พบกับ คุณครู ประทุม สุริยา แห่งศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฏีใหม่สวนครูประทุม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ อาจ
ไม่ได้ผลผลิตเต็มที่เหมือนกับการทำเกษตรที่ใช้สารเคมี ได้รับรู้และเห็นถึงความลำบากของเกษตรกรไทย จึงเกิดความรู้สึกอยากช่วย ซึ่ง “พอลล์” บอกว่า เราโชคดี เราอยู่ในฐานะที่เราช่วยได้
 

นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้เกิดโครงการ “อิมแพ็ค ฟาร์ม” โดยบริษัทจะทำหน้าที่เข้ารับซื้อผลผลิต ผัก ผลไม้จากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ นี้กว่า 69 ราย มาใช้ในเครือข่ายของอิมแพ็ค และอีกส่วนหนึ่งคือเป็นเหมือนคนกลาง ขายให้ผู้สนใจอื่นๆ โดยไม่ได้คิดทำตรงนี้ให้เป็นธุรกิจใหญ่โต แต่เป็นการช่วยเกษตรกรจริงๆ
 

“หน้าที่หลักของเรา ไม่ใช่เกษตรกร แต่เราช่วยเขา ช่วยทำให้เขามีรายได้ที่ดีขึ้น ช่วยทำให้คนอื่นมาทำแบบเรามากขึ้น แค่นี้สำหรับผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”
 

“พอลล์” กล่าวอีกว่า หน้าที่ของบางกอกแลนด์ ไม่ใช่ทำฟาร์ม หน้าที่คือ ต้องทำคอนโด ช้อปปิ้งมอลล์ ทำให้เมืองนี้เจริญ นี่คือหน้าที่หลักที่ต้องทำให้ถึง แต่ฟาร์ม สิ่งที่ต้องการคือการส่งเสริมให้คนเห็นว่าอาชีพเกษตรกรดี มีรายได้ คนในครอบครัวสามารถกลับมาช่วยกันทำ ส่งต่อสู่รุ่นต่อไป “ทำให้คนเห็นว่า อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีคุณค่า”
 

ซีอีโอ ท่านนี้ยังทิ้งท้ายว่า “ความใฝ่ฝันของเขาคือ อยากจะมี ตะกร้าผัก ตะกร้าข้าว ไปให้เพื่อน แล้วบอกว่า นี่คือ ผลิตผลจากฟาร์มของเรา” 


นี่คือ ความตั้งใจ และเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของซีอีโอ BLAND ที่ต้องการเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยเกษตรกร และกระตุ้นผู้มีกำลังอื่นๆ ให้เข้าไปช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกร พร้อมทั้งทำให้คนไทยได้กินผัก ผลไม้ ที่ปราศจากสารพิษจริงๆ 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,786 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565