เปิดใจ บิ๊ก BMW  นำองค์กร  ฝ่ากระแสทรานสฟอร์มติดจรวด

26 มี.ค. 2565 | 06:50 น.

การบริหารองค์กรธุรกิจ ในยุคที่โลกกำลังทรานสฟอร์มทั้งจากเทคโนโลยี และโรคระบาด วิชั่นและมิชชั่นที่แข็งแกร่งของ “ผู้นำ” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากทั้ง 2 ปัจจัยอย่างธุรกิจรถยนต์

 “อเล็กซานเดอร์ บารากา” ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศ ไทย ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 1 กันยายน 2562 บอกเลยว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายจริงๆ เพราะเขาในฐานะผู้นำ ต้องปกป้องทั้งบิซิเนส และพนักงาน ต้องหาโหมดการทำงานใหม่ๆ รวมทั้งหาวิธีบริหารจัดการกับปัจจัย หรือผลกระทบที่อยู่นอกเหนือการครอบคลุม เขาต้องใช้ทั้งความยืดหยุ่น ความเด็ดขาด เพื่อบริหารองค์กรให้เดินหน้า

 

ผู้บริหารท่านนี้ ร่วมงานกับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มานานกว่า 16 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 ด้วยความรับผิดชอบงานในหลากหลายตำแหน่ง และหลายประเทศ ทั้งสเปน เยอรมนี และแอฟริกาใต้ ก่อนเข้ามาบริหารบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ซึ่งดูแลทั้งบีเอ็มดับเบิลยู มินิ และบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ด้วย

“จากประสบการณ์ที่ ยุโรปและแอฟริกาใต้ สอนให้เราต้องมีความยืดหยุ่นให้มากที่สุด เพื่อหาโซลูชั่นและคำตอบที่ดีที่สุดให้กับแต่ละสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ในระหว่างนี้ต้องไม่ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการเสียหายไป ศูนย์บริการของเราไม่ได้ปิดเลยระหว่างที่เกิดโควิด โดยลูกค้าและพนักงาน ยังต้องปลอดภัยด้วย”

เปิดใจ บิ๊ก BMW  นำองค์กร  ฝ่ากระแสทรานสฟอร์มติดจรวด
 นั่นคือวิธีบริหารธุรกิจของซีอีโอท่านนี้ 

บีเอ็มดับเบิลยู การทำงานตอนนี้ ประมาณ 70% Work form Home (WFH) และอีก 30% มาทำงานออฟฟิศ ซึ่งทั้งหมดเป็นภาคสมัครใจ และหากมีการพบหน้ากันเกิน 20 คน ก็ต้องมีการตรวจ ATK ขณะเดียวกันทุกคนต้องตรวจ ATK ส่งมาที่ออฟฟิศทุกอาทิตย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับพนักงาน

 


การ WFH “อเล็กซานเดอร์” บอกว่า ทำให้เขาได้เห็น ไอเดียใหม่ๆ เห็นวิธีการทำงานที่มีการ Collaboration ใหม่ๆ ในแต่ละฝ่าย และมีหลายกลุ่มที่ต้องเข้ามาทำงานออฟฟิศ เพราะเป็นงานเอกสาร ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งออฟฟิศ และที่บ้าน เราเห็นบาลานซ์ และมีผลลัพธ์ของงาน ที่ออกมาตามที่ต้องการ ซึ่งการทำงานที่บ้านบริษัทฯ ซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น จอคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ขึ้น โต๊ะทำงาน เพื่อให้การทำงานที่บ้านง่ายและสะดวกสำหรับทีมงาน และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แน่นอนว่า ระบบการทำงานแบบไฮบริดจะถูกนำมาใช้ แม้การทำงานออฟฟิศ จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมและดีเอ็นเอขององค์กร 
  เปิดใจ บิ๊ก BMW  นำองค์กร  ฝ่ากระแสทรานสฟอร์มติดจรวด

ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ถือเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสำคัญ ทำให้คนสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ง่ายขึ้น โดยบริษัทฯ สามารถตอบความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี 


 ส่วนทิศทางธุรกิจ “อเล็กซานเดอร์” ได้นำ “พลังแห่งทางเลือก” (The Power of Choice) ซึ่งเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้กับลูกค้าของ
บีเอ็มดับเบิลยููมาใช้ เพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า และยังสนองตอบเป้าหมาย ความยั่งยืนของบีเอ็มดับเบิลยู ที่ประกาศเดินหน้าขยายพอร์ต
รถยนต์ไฟฟ้าเต็มที่ ด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าสปอร์ตอเนกประสงค์ บีเอ็มดับเบิลยู iX และบีเอ็มดับเบิลยู iX3 เมื่อปลายปี 2564

 

รวมทั้งการเปิดตัว Charge  Now เครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด ทุกยี่ห้อและทุกรุ่น ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 100 สถานีทั่วประเทศ และยังมีแผนขยายต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการในไทย โดยปี 2563 ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศจดทะเบียนอยู่ที่ 2,999 คัน ปี 2564 ตัวเลขอยู่ที่กว่า 5,700 คัน 
 

 

การปรับตัวสอดรับกับสถานการณ์ และการให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ทำให้ “อเล็กซานเดอร์” สามารถผลักดันยอดขายบีเอ็ม ดับเบิลยูก้าวขึ้นอันดับ 1 ของรถยนต์กลุ่มพรีเมี่ยม 2 ปีซ้อน และยังได้รับคะแนนความพึงพอใจทั้งการขายและบริการหลังการขาย สูงสุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งซีอีโอท่านนี้ บอกว่า นั่นคือเครื่องการันตีว่า บีเอ็มดับเบิลยูเดินมาถูกทาง 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,768 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2565