เตรียมรับปริบทเทคโนโลยี หลังยุคโควิด-19

08 ม.ค. 2566 | 06:55 น.

เตรียมรับปริบทเทคโนโลยี หลังยุคโควิด-19 : บทความ โดย นครินทร์ เทียนประทีป ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ยิบอินซอย จำกัด หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,851 หน้า 5 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2566

 

2-3 ปีที่ผ่านมา ชีวิตความเป็นอยู่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก วิกฤตโควิดที่ผ่านมาทำให้การปรับตัวทางธุรกิจ และการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อการรองรับสถานการณ์ให้ทันท่วงที อีกประเด็นปัญหาที่วิกฤตการโควิดทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ กองทุนไอเอ็มเอฟ ยังคาดการณ์ว่า กลางปี 2566 มีแนวโน้มสูงที่หลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยเพียง 1-2% เตรียมรับปริบทเทคโนโลยีหลังยุคโควิด-19 ที่มีการตื่นตัวและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

 

 

ธุรกิจกับความท้าทายหลังยุคโควิด 

 

เกือบสามปีของการรับมือการแพร่ระบาด องค์กรหลายแห่งได้เปลี่ยนผ่านตัวเองสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แต่หลังจากนี้ เราจะยิ่งเห็นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เทคโนโลยี เช่น คลาวด์ เอไอ ไอโอที วีอาร์/เออาร์ บล็อกเชน หรือ เน็ตเวิร์คที่แรงและเร็วระดับซูเปอร์ฟาสต์ (Superfast) อย่าง 5G จะมีบทบาทสำคัญมากเป็นลำดับ เพื่อยกเครื่องสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligent Enterprise) โดยมีข้อมูลเป็นทรัพยากรสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรด้านการบริหารจัดการและกระบวนการทำงานแบบไร้รอยต่อและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น  

 

 

ขณะเดียวกัน การสร้างพื้นที่การทำงานแบบอัตโนมัติบนโลกออนไลน์ (Workplace Automaton) ทำให้คนยุคหลังโควิดต้องทำงานกับอุปกรณ์ที่ชาญฉลาดกระทั่งหุ่นยนต์อัตโนมัติมากขึ้น ปัญหาที่องค์กรจะต้องรับมือ คือ ช่องว่างด้านทักษะไอทีระหว่างบุคลากรรุ่นเก่าและใหม่ (Talent Challenge) เช่น ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล เอไอ เป็นต้น

 

ดังนั้น การส่งเสริมวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นต่อการทำงานแบบไฮบริด จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่องค์กรต้องเร่งสร้างและพัฒนาคนให้พร้อม ต่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนสร้างโอกาสการเรียนรู้และการเติบโต เพื่อดึงคนที่มีศักยภาพเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ

 

 

เตรียมรับปริบทเทคโนโลยี หลังยุคโควิด-19

 

 

 

ประสบการณ์ของลูกค้า จะกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงในปี 2566 มากขึ้น และด้วยนัยยะที่กว้างกว่าการจูงใจด้วย “ราคาสินค้า” แต่หมายถึงประสบการณ์ระหว่างทางที่ทำให้ลูกค้า “เพลิดเพลิน” กับสินค้าและบริการของเราตั้ง แต่เริ่มการสืบค้น ขณะเลือกจับจ่ายสินค้าบริการไปจนจบขั้นตอนชำระเงิน ดังนั้น การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีเด่นๆ เช่น 

 

 

 

เอไอ บล็อกเชน การออก แบบบริการ As-a-Service การออกแบบพอร์ทัลเพื่อสนับสนุนการให้บริการลูกค้าตลอดจนบริการหลังการขาย หรือกระทั่งการสร้างโลกความจริงเสมือนผ่านเทคโนโลยีเออาร์/วีอาร์/เอ็มอาร์ (AR/VR/MR) จะต้องเป็นไปเพื่อขจัดความยุ่งยากในการดำรงชีวิตของผู้บริโภค พร้อมๆ ไปกับการเสริมเขี้ยวเล็บทางการตลาดให้กับทางธุรกิจ

 

ฟอร์บ (Forbes) ได้เคยบอกถึงเคล็ดลับการสร้างประสบการณ์ของลูกค้ายุคดิจิทัลด้วยคำสองคำ คือ การดำดิ่งสู่โลกเสมือน (Immersive) และสร้างการโต้ตอบสองทาง (Interactive) ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในที่ชี้ถึงเทคโนโลยีสุดลํ้า เช่น เมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือจักรวาลนฤมิต ซึ่งถูกนำมาใช้สร้างกลยุทธ์การตลาดแถมยังเป็นการยกชั้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตไปอีกขั้น

 

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา นับรวมถึงภาวะโลกร้อน การเปลี่ยน แปลงทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงการรักษาสุขภาพเราและสุขภาพโลกมากขึ้น การวางหลักการ ESG (Environment Social and Governance) ที่มีหัวใจอยู่ที่ “ความยั่งยืน” ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งเติมเต็มเรื่องความถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ จะเป็นสิ่งที่สังคมเริ่มถามหา 

 

และองค์กรต้องวางเป้าหมายธุรกิจให้ชัดในการใช้เทคโนโลยีไอทีมาช่วยเสริมเรื่อง ESG หรือบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น เช่น การทำ ESG ในระบบซัพพลาย เชน เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือน กระจกทั้งห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาแพลตฟอร์มด้านเอไอ บนความยั่งยืน (Sustainable AI) ดังที่การ์ทเนอร์เคยทำนายไว้ว่า ในปี 2568 เอไอจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานมากกว่าการทำงานโดยมนุษย์ และถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงปี 2573 เทคโนโลยีเอไอจะกินสัดส่วนสูงถึง 3.5% ของการใช้พลังงานของโลกทั้งใบ

 

ความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการทำธุรกรรม การจัดการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ และการยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Ownership) จะทำให้บล็อคเชน (Blockchain) และ เว็บ 3.0 ทวีความสำคัญมากขึ้นด้วยเทคนิคการจัดการแบบกระจายศูนย์ เพื่อให้การเก็บและส่งต่อข้อมูลหรือการทำงานของโปรแกรมข้ามแฟลตฟอร์มต่างๆ ไม่ถูกแทรกแซงโดยคนที่ไม่เกี่ยวข้อง 

 

ส่วนเทคโนโลยี 5G จะไม่ได้จำกัดแค่การสร้างประสบ การณ์การเชื่อมต่อที่เร็วขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรองรับไอโอที ต่างๆ ที่มาเชื่อมต่อได้มากขึ้นด้วย รวมถึงเพิ่มความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยระดับสูงสุดสำหรับการส่งต่อข้อมูลในกระบวน การทำงานที่สำคัญ เช่น การผ่าตัดผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์ รวมถึงการสร้างมาตรฐานของโปรโตคอล ที่เป็นสากล เพื่อให้อุปกรณ์หลากโอเอสหลายแพลตฟอร์มสามารถพูดคุยกันได้

 

 

4 เป้าหมายสู่องค์กรยุคดิจิทัล 

 

ในปี 2566 การ์ทเนอร์ได้สรุป 4 เป้าหมาย 10 กลยุทธ์เด่นด้านเทคโนโลยี เพื่อนำพาองค์กรธุกิจสู่ความสำเร็จยุคดิจิทัลตลอด 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ 

 

1.การเพิ่มประสิทธิผลให้กับการดำเนินธุรกิจ (Optimize) ผ่าน 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 1.Digital Immune System การสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัลด้วยคุณสมบัติของระบบไอทีที่สามารถย่อขยายได้ (Scalable) มีความปลอดภัยสูง (Secure) และมีเสถียรภาพ (Stable)  2. Applied Observability ซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบติดตามปัญหา โดยใช้ข้อมูลร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ การแก้ปัญหา หรือขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ 3. AI TRISM ในการจัดการความปลอดภัย ลดความเสี่ยง เพิ่มความเชื่อมั่นเรื่องการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมต่างๆ 

 

2.การสร้างความยืดหยุ่น ย่อ-ขยายระบบงานได้ทันความต้องการ (Scale) ด้วย 4. Industry Cloud Platforms แพลตฟอร์มคลาวด์เพื่ออุตสาหกรรม 5. Platform Engineering การพัฒนาแพลตฟอร์มด้านวิศวกรรม เช่น As-a-Service ต่างๆ อย่าง IaaS SaaS PaaS หรือ เว็บพอร์ทัลการพัฒนาแบบบริการตนเอง (Self-Service Development Portal) เทคโนโลยี CI/CD ในการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ใช้งานได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาและภาระของนักพัฒนา และการส่งมอบซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ยูสเซอร์ก็สามารถสร้างแอปพลิเคชันขึ้นใช้เองได้บางส่วนจาก GUI ที่นักพัฒนาได้ออกแบบไว้ให้ 6.Wireless-Value Realization การตระหนักเรื่องเทคโนโลยีไร้สาย โดยเฉพาะการรองรับการทำงานของอุปกรณ์เอดจ์ (Edge Devices) ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2569 60% ขององค์กรจะมีการใช้เทคโนโลยีไร้สายในเรื่องต่างๆ อย่างน้อย 5 เทคโนโลยี

 

3.การบุกเบิกแนวทางการทำธุรกิจ เพิ่มการเข้าถึงลูกค้าและสร้างตลาดการค้าใหม่ๆ (Pioneer) ผ่าน 7. Superapps การสร้างแอปพลิเคชันให้มีฟังก์ชันที่แตกต่างหลากหลายเพื่อรองรับการเชื่อมต่อการทำงานจากแอปพลิชันจากภายนอก ต่อยอดสู่การพัฒนาระบบนิเวศด้านไอทีสู่การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในแอปพลิเคชันเดียว 

 

8. Adaptive AI สำหรับการออกแบบอัลกอริทึมหรือกระบวนการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนให้กับสภาพแวดล้อมด้านไอที หรือการตอบกลับแบบเรียลไทม์ต่อลูกค้าหรือผู้ใช้งานเฉพาะบุคคล เพื่อการปรับเปลี่ยนเป้าหมาย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจได้มากขึ้น 9. Metaverse การผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลายในการสร้างโลกความจริงเสมือนเพื่อส่งต่อผลิตภัณฑ์และบริการที่ตื่นตาและโดนใจลูกค้าได้ยิ่งกว่าเดิม 

 

และเป้าหมายสุดท้าย คือ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและโลกผ่าน 10. Sustainability Technology เพื่อให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีหรืบริการไอทีโดยที่ตัวมันเองไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

 

รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลังกระบวนการทำธุรกิจที่ควรนำไปสู่การพัฒนาโซลูชันและบริการด้านไอที ซึ่งลดการใช้พลังงาน หรือเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงวัฒนธรรมการทำงาน การยอมรับความแตกต่างหลากหลายและเพิ่มความเท่าเทียมระหว่างพนักงานในมิติเชิงสังคมและบรรษัทภิบาลไปพร้อมกัน

 

ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถพัฒนาสู่ความเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่ถึงพร้อมด้วยระบบนิเวศด้านไอที ในการรับมือทุกสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน