สร้างวันเวลาในวัยชรา ให้เกิดความสุขที่สุด

23 ก.ค. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อนท่านหนึ่งที่ขาดหายการติดต่อมาหา ผมก็ถามไปว่าหายหน้าหายตาไปไหนมา เขาก็บอกว่า ช่วงนี้โรคระบาด COVID-19 ค่อนข้างจะไม่ลดราวาศอกเลย อีกอย่างดูเหมือนว่าตนเองไม่อยู่ในสภาวะปกติ เพราะเวลาออกไปนอกบ้าน เดินเหินนิดหน่อย ก็รู้สึกว่าจะเหนื่อยง่าย เดินไปก็หอบไป 


พอกลับมาถึงบ้าน ก็รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว จึงไม่อยากที่จะออกไปสังสรรค์หรือเสวนากับใคร สู้เก็บเนื้อเก็บตัวหน่อยน่าจะดีกว่าออกไปนอกบ้าน อีกอย่างโรคโควิดมันระบาดเยอะ เลยไม่อยากนำเอาสิ่งที่ตัวเองไม่ปรารถนาเข้าบ้านมาฝากลูกเมีย ผมก็หัวเราะไปคิดตามไป เออนะ สงสัยเพื่อนเขาคงจะแก่ตัวลงไปเยอะแน่ๆ เลยครับ

อันที่จริงอาการของผู้สูงอายุนั้นมักจะมีอาการอ่อนแอลง เมื่ออายุย่างเข้าวัย 70 ปี สิ่งที่จะตามมาคือความอ่อนล้า ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ที่น่ากังวลใจมากที่สุดคือ “ใจไม่สู้” นี่แหละครับ ผู้สูงอายุบางท่านที่สภาพจิตใจไม่สู้จะสังเกตเห็นง่ายๆ 


มักจะทำตัวเองจมปรักอยู่กับที่ตลอดเวลา พอพบกับอะไรเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจเล็กน้อย ก็จะเริ่มออกอาการถอดถอนใจง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคมรอบตัวหรือสภาพแวดล้อมทางครอบครัว 
 

ดังนั้นสิ่งที่คนใกล้ชิดที่พบว่าผู้ใหญ่ที่เราเคารพรัก เกิดอาการเช่นนี้ ก็ควรจะรีบใส่ใจท่าน ด้วยการหากิจกรรมต่างๆ มาชักชวนให้ท่านทำ เพื่อเป็นการกระตุ้นไม่ให้ท่านอยู่คนเดียวแบบโดดเดี่ยวเดียวดาย  ควรจะต้องระมัดระวัง เพราะผู้ที่มีวัยแก่ชราเกินเกษียณเหล่านี้ ก็เปรียบเสมือนแสงเทียนที่พร้อมที่จะดับได้อยู่ตลอดเวลานั่นเองครับ
            

อีกประการหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคอยสังเกตดู นอกเหนือจากพฤติกรรมของผู้สูงอายุ คือการตรวจวัดที่เป็นตามหลักของวิทยาศาสตร์ เช่นให้ดูว่าผู้สูงอายุในวัยดังกล่าว มีอาการน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยยะหรือไม่ 


กล่าวคือ หากพบว่าน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุลดลง 3-4 กิโลกรัมภายในครึ่งปี ทั้งๆ ที่ทานอาหารที่มีโปรตีนตามปกติ และไม่ได้ลดอาหารลง นั่นก็สัญญาณอันตรายด้วยเช่นกัน ควรจะต้องพาไปตรวจสุขภาพได้แล้วครับ  


และที่ต้องตรวจวัดด้วยตนเองอีกอย่างคือ การเดินเหิน หากผู้สูงอายุเดินได้ระยะต่ำกว่า 60 เมตรต่อนาที มีการเกิดอาการเหนื่อยง่าย ทำให้ไม่ยอมขยับตัวออกกำลังกายหรือทำกายบริหาร นั่นหมายถึงอาการเริ่มเข้าสู่สภาพร่างกายอ่อนแอลงแล้วละครับ
                 

วิธีป้องกันอาการอ่อนแอของผู้สูงอายุ ทางด้านกายภาพ ควรจัดให้มีการทำกายบริหารเป็นประจำ แต่ไม่จำเป็นต้องเล่นกีฬาที่หักโหมจนเกินไป เพราะด้วยวัยของท่านสูงมากแล้ว ไม่สมควรที่จะต้องเสี่ยงการเกิดอันตรายทางร่างกาย 


อีกสิ่งหนึ่งคือ อาหารการกิน ที่จะต้องเป็นอาหารที่สมดุลกับสภาพร่างกายของผู้สูงวัย จำเป็นจะต้องครบทั้ง 4 หมวดหมู่ โดยจะต้องให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เท่าๆกันทุกวัน ไม่ใช่วันนี้โด๊ปไปมากๆ พรุ่งนี้มะรืนนี้ค่อยหยุดทานอาหาร เช่นนี้เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องนัก 


เพราะมีเพื่อนๆ หลายคน มักจะชอบพูดว่า วันหยุดต้องพาคุณพ่อ-คุณแม่ออกไปทานอาหารนอกบ้านให้เต็มที่ วันธรรมดาทานง่ายๆ อะไรก็ได้ ข้าวต้มบวกไข่เค็ม เกี่ยมฉ่ายก็พอ เพราะวันหยุดได้โด๊ปเต็มที่แล้ว นั่นคือความเข้าใจผิดๆ ทุกๆ วันไม่จำเป็นต้องเต็มพิกัดก็ได้ แต่ต้องครบ 4 หมวดหมู่อย่างที่กล่าวมา จึงจะถูกวิธีครับ
             

วิธีป้องกันอาการอ่อนแอของผู้สูงอายุ ทางด้านจิตใจ ต้องระมัดระวังการแยกตัวออกจากสังคม แล้วอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายของผู้สูงอายุ ลูกหลานหรือคนใกล้ชิด ควรจะต้องจัดให้มีการออกไปเที่ยวนอกบ้านกับกลุ่มเพื่อนๆในวัยเดียวกันบ้าง อย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง 


หรือการเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครบางประเภทบ้าง เพื่อทำให้ไม่เกิดความเหงาหรืออ้างว้างจนเกินไป หรือการสร้างสิ่งที่รอคอยให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น การเฝ้าติดตามละครทีวี หรือการติดตามข่าวสารบ้างประเภท ที่ไม่หนักจนเกิดความกังวลใจเป็นต้น 


หรือการได้เล่นเกมที่ต่อเนื่อง เรามักจะเห็นคนชราบ้างท่าน ที่ติดการเล่นเกมไพ่นกกระจอก นั่นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านได้มีกิจกรรมยามว่างได้อย่างดี เพราะจะทำให้ลืมวันลืมคืน และไม่เกิดความเหงานั่นเองครับ
            

จะเห็นว่าความแก่ชราไม่เคยปราณีใคร เมื่อเข้าสู่วัยอันควรแล้ว เราจะไม่ยินยอมก็ไม่ได้ เพราะนาฬิกาไม่เคยเดินถอยหลังฉันใด วันเวลาก็ไม่เคยเดินถอยหลังฉันนั้น 


เมื่อสังขารอันชราร่วงโรยเข้ามาสู่ชีวิต เราก็ต้องยิ้มรับมัน และทำวันเวลาที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้ ให้มีความสุขที่สุด มีประโยชน์สูงสุดต่อคนรุ่นต่อๆ ไปให้ได้ นั่นจึงจะมีความหมายที่ดีที่สุดในชีวิตครับ