เงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในยามชรา

06 พ.ค. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีแฟนคลับส่งคำถามมาว่า ควรจะสำรองเงินไว้ใช้ในยามแก่ชราสักเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ? ผมต้องตอบว่าคำถามนี้ ถ้าตอบแบบง่ายๆ ให้เฉพาะจำนวนเงินไป แค่นั้นก็จบ แต่ถ้าจะให้แจงรายละเอียด คงต้องขอใช้พื้นที่ของคอลัมน์ในการตอบคำถาม น่าจะดีกว่า เพราะจะได้ให้แนวคิดแก่คนที่กำลังจะเตรียมตัวเข้าสู่วัยชรากันนะครับ
        

ในประเทศที่เจริญแล้วในแถบเอเชีย อย่างประเทศญี่ปุ่น เขามีรัฐบาลจะคอยให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายบางส่วน ในการเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนวัยเกษียณ หรือแม้แต่ที่ประเทศทางฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่ก็จะมีกองทุนสวัสดิการสังคม คอยจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือไว้ให้ 
 

แต่สำหรับประเทศไทยเรา ก็มีเบี้ยคนชรากับเขาเหมือกัน แต่หากจะเอาเงินเบี้ยคนชรามาใช้ในการอยู่อาศัยในบ้านพักคนวัยเกษียณ คงต้องไปใช้บ้านพักคนชราลักษณะบ้านบางแคแน่นอนครับ ส่วนบ้านพักคนวัยเกษียณของเอกชนทั่วไป เงินแค่นั้นไม่มีทางที่จะเพียงพอครับ 


แม้เราต้องเจียดเอาเงินเบี้ยบำเหน็จบำนาญเข้ามาช่วย ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดีครับ เพราะเบี้ยต่างๆ เหล่านั้น รัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอที่จะช่วยได้ ก็น่าเห็นใจภาครัฐครับ เพราะการจัดเก็บรายได้จากภาษีต่างๆของไทยเรา ยังไม่สามารถครอบคลุมถึง หรือเก็บได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ 

ประชาชนผู้เสียภาษีบางรายยังหลบเลี่ยงอยู่บ้างละครับ ถ้าจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ ก็ยังต้องดูก่อนว่า จะมีเงินที่รั่วไหลสู่นอกระบบจากทางการมีมากแค่ไหน ถ้าถูกจำพวกเหลือบไรเอาไปหมด อย่างไรก็ไม่ถึงมือชาวบ้านอยู่ดีครับ
        


เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินที่ประชาชนคนมีอันจะกินจะต้องเตรียมไว้ สำหรับใช้จ่ายในยามเฒ่าชรา คงต้องเตรียมกันเองแล้วละครับ สำหรับจำนวนเงินเท่าไหร่นั้น ก็ต้องดูว่าเราต้องการอยู่บ้านพักคนชราระดับไหน สมมุติว่าถ้าหากว่าเราต้องการอยู่ในราคาตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป 


ขั้นตอนต่อมาคือต้องดูว่าสภาพร่างกายเราเป็นอย่างไร? เช่นหากเรายังแข็งแรงมาก เราตั้งเป้าว่าเราจะอยู่บนโลกใบเบี้ยวๆ นี้อีก 20 ปี หรือเรามีสภาพที่แย่มากแล้ว อยู่ต่อไปได้อีกไม่เกิน 5-10 ปี เราก็ต้องคำนวณว่า เราต้องใช้เงินปีละ 600,000 บาท แล้วเอาจำนวนปีที่เราคิดว่าจะอยู่ต่อคูณเข้าไป 


ถ้าหากว่าเราเชื่อว่ายังไงเสีย ก็สามารถอยู่ได้อีก 10 ปีแน่ๆ ก็ต้องมีเงินอยู่ 6 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ แต่ไม่เพียงเท่านั้นนะครับ เพราะยังมีเงินที่จะต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีกประมาณ 30% เป็นอย่างต่ำ เพราะเรายังจะต้องมีการซื้อหาสิ่งที่สนองต่อความต้องการอีกบ้าง ถึงแม้ว่าทางสถานบ้านพักคนวัยชรา เขาได้มีให้แล้วก็ตามครับ
      

แต่หากถามว่าต้องมีมากถึง 7,200,000 บาทเลยจริงๆ เหรอ ต้องตอบว่า ถ้าหากไม่รู้จักนำเงินนั้นไปงอกเงยบ้าง ก็คงต้องมีขนาดนั้นจริงๆ ครับ แต่ถ้ารู้จักจัดสรรปันส่วนเงิน แล้วให้เงินไปสร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้นมาบ้าง ก็ไม่ต้องมีมากถึงขนาดนั้นก็ได้ 


คือจัดสรรเงินบางส่วน ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลบ้าง หุ้นที่มีเงินปันผลที่ไม่สูงมากจนเกินไปบ้าง (เพราะยิ่งสูงมากยิ่งเสี่ยงมาก) หรือไปลงทุนในทรัพย์สินที่เราคิดว่าจะมีผลตอบแทนคืนมาบ้าง ซึ่งก็จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยที่ไม่มีความเสี่ยง เมื่อเวลาเราจากไป ก็ยังพอจะมีเงินเหลือไว้ให้ลูกหลานบ้างครับ
     

โดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าจะให้ดีมากๆ คือควรจะต้องมีสัก 20 ล้านบาท จะไม่มีความยุ่งยากในการจัดการชีวิตของตนเองได้เลยครับ แต่ต้องมีคนบอกว่า แล้วใครจะมีปัญญาขนาดนั้นละ ผมก็ต้องตอบว่า มีครับ 


ปัจจุบันนี้ ค่าของเงินได้ต่างกับค่าเงินในอดีตเยอะมาก ในช่วงสมัยผมเป็นเด็กอยู่ คนที่มีเงินล้าน ก็มีคนเรียกว่าเศรษฐีแล้วละครับ แต่ปัจจุบันนี้ เงินล้านบาทหาใช่คนที่มีฐานะดีหรือมีอันจะกินไม่ ปัจจุบันนี้เงินล้านบาท ซื้อรถได้แค่คันเดียว 


ถ้าจะหาซื้อที่ดินในกรุงเทพมหานคร หรือจะหาบ้านราคาสักหนึ่งล้านบาท ยังหาได้ยากมากเลยครับ ที่ดินหนึ่งล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอที่จะทำมาหากินได้หรอกครับ ดังนั้นค่าของเงินปัจจุบันกับในอดีตต่างกันเยอะมากครับ
      


ถ้าหากเราคิดว่าทำอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะมีปัญญาหาเงินมาใช้จ่ายในอนาคตได้ ก็มีอีกทางหนึ่งคือ ลดระดับของบ้านพักคนวัยชราที่เราต้องการไปพักอาศัยลงมาอีกนิด ให้เพียงพอกับฐานะของตนเอง ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอันใกล้นี้ ผมเชื่อว่าจะต้องมีผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในธุรกิจมีเพิ่มขึ้นแน่นอน 


เมื่อมีการลงทุนเยอะขึ้น ราคาค่างวดก็คงจะต้องมีการปรับลดลงบ้างเป็นธรรมดา อีกทั้งก็คงจะต้องมีคนที่คิดทำในราคาที่ลดหลั่นกันลงไป เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้น ตามสภาวะของสังคมแน่นอน ดังนั้นคงจะมีราคาที่หลากหลายระดับชั้นของบ้านพักคนวัยชราอย่างแน่ๆ ครับ
       


อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้ ผมเชื่อว่าจะต้องมีบริษัทประกันชีวิต ที่เล็งเห็นความต้องการนี้ และคงจะมีแพ็คเก็จทำประกันชีวิตให้กับลูกค้าผู้ประกันตน ออกมาขายให้กับคนเริ่มเข้าสู่วัยทำงานแน่นอน แต่ตัวเราเองก็คงจะไม่ประมาทเป็นดีที่สุดครับ เราต้องรู้จักอดออมเงินบ้าง เผื่อจะได้มีเหลือสำหรับชีวิตในอนาคตนะครับ