การบริหารทางกายและทางจิต

29 เม.ย. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมประชุมกับสมาคมจงหัว ที่ถนนพระราม 4 ในฐานะกรรมการบริหารของสมาคม ซึ่งกรรมการบริหารสมาคมแต่ละท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิทั้งสิ้น 


ผมแม้จะมีอายุไม่น้อยแล้ว แต่ถ้าไปเทียบกับทุกท่านที่นั้น ก็จะกลายเป็นเด็กๆไปเลย เวลาที่นั่งคุยกันนอกรอบที่ไม่ใช่การประชุม ผมต้องเป็นฝ่ายรับฟังเสมอ เพราะบางครั้งท่านเหล่านั้นเล่าถึงประสบการณ์ต่างๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งใหม่สำหรับผมเสมอ

ผมจึงกลายเป็นผู้ที่ได้รับความรู้ที่แปลกๆใหม่ในชีวิตเสมอ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมนิยมชมชอบที่จะคบหาสมาคมกับผู้ที่มีอายุมากกว่า เพราะนี่คือประโยชน์ในการที่มีเพื่อนต่างวัยครับ
      

ในวันนั้นมีท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่ง ที่ได้มานั่งคุยและเล่าเรื่องของการใช้ชีวิตที่มีสีสันของท่านให้ผมฟัง ท่านบอกว่าในชีวิตท่านชอบอ่านหนังสือปรัชญาอี่จิงมาก อีกทั้งตัวท่านเองก็เป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้เป็นการที่คนเราเริ่มจาก “ไม่รู้จนกระทั่งรู้ จากรู้กระทั่งช่ำชอง จากช่ำชองกระทั่งเข้าสู่ความรู้สึกภายในหรือสำนึก” 

เมื่อสำนึกก็จะเกิดความภาคภูมิใจ เพราะคนเราเมื่อมีความภาคภูมิใจในตนเอง นั่นคือการทำให้ตนเองเจริญเติบโตอย่างมีคุณค่า เพราะการเจริญเติบโตของมนุยษ์ จะเติบโตด้วยร่างกายและเติบโตด้วยภูมิปัญญา 


ท่านบอกว่าเราอย่าได้หลงระเริงในความสำเร็จในการแสวงหาซึ่งทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว ควรจะต้องมีความภาคภูมิใจในการที่ได้เจริญเติบโตทางปัญญา นั่นคือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจมากกว่าทรัพย์สินเงินทองเป็นหลายเท่านัก 


เพราะปัญญาสามารถช่วยให้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างไม่ขาดสาย แต่เงินทองทรัพย์สิน ถ้าไม่รู้จักรักษา สักวันหนึ่งก็จะหมดสิ้นไป หรือถ้าต้องจากโลกนี้ไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ใช่ของตนเอง แม้จะเพียรพยายามแสวงหามาอย่างไร ก็ไม่สามารถเก็บเอาไปกับตนเองได้ ดังนั้นก็อย่าได้หลงระเริงไปกับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้เราต้องแสวงหามากจนเกินไป 
      

ผมได้ถามท่านถึงการที่ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง แม้จะมีวัยที่เกินแปดสิบปีไปแล้ว ว่าท่านทำอย่างไร? ท่านบอกว่า การที่เราได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ โดยไม่ได้ใส่ใจกับความทุกข์ นั่นคือยาที่วิเศษสำหรับการรักษาร่างกาย ให้มีร่างกายที่แข็งแรง 


ผมยังไม่เข้าใจสิ่งที่ท่านหมายถึง จึงถามต่อไปว่า ท่านหมายถึง “จิตใจหรือความรู้สึก” ใช่หรือไม่? ท่านบอกว่า “จิต” สามารถกำหนดให้คนมีความสุขหรือมีความทุกข์ได้ ดังนั้นต้องทำให้จิตสงบ และมองทุกอย่างในด้านบวกเข้าไว้ อย่ามองในด้านลบ ก็จะทำให้ใจเราสบาย ไม่เป็นปัจจัยบั่นทอนสุขภาพของตนเอง 


ซึ่งสิ่งที่ท่านชอบทำอย่างยิ่งคือ การร้องเพลง ท่านบอกว่าการร้องเพลง เป็นการบริหารปอด บริหารร่างกาย และบริหารจิตใจหรืออารมณ์ที่ดีมาก เพราะเวลาเราร้องเพลง ด้วยความรู้สึกที่เข้าไปสู่บทเพลง ไม่ได้ร้องโดยร้องตามเนื้อร้อง แล้วไม่รู้ว่าตนเองร้องอะไรออกไป โดยไม่ได้ใส่ใจเนื้อหาของบทเพลงนั้นๆ ก็เปรียบเสมือนการร้องไปตามเสียงนกเสียงกา 


โดยไม่รู้ถึงความรู้ซึ้งถึงความคิดของคนเขียนบทเพลง ว่าเขากำลังต้องการสื่อถึงอะไร นั่นเป็นการร้องด้วยความ “อยาก” แต่ไม่เข้าถึง “จิต” เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ดังนั้นเพลงที่ท่านร้อง ท่านจะดูว่าเนื้อหานั้นมีความหมายอะไร จากนั้นจึงร้องด้วยความเข้าใจในเนื้อหาของเพลงนั้น จึงทำให้ท่านสามารถเข้าสู่ภวังค์ของบทเพลงนั้นนั่นเองครับ
   

ผมเห็นด้วยกับท่าน แต่ปัจจุบันนี้ถ้าเป็นเพลงไทยในยุคนี้ บทเพลงที่แต่งกันออกมา มักจะคำนึงถึงผลทางการตลาด และความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก จึงทำให้นักแต่งเพลงสร้างสรรค์เนื้อหาของบทเพลง ได้ไม่สะสวยงดงามเท่าเทียมในอดีต ทำให้จะคัดสรรหาบทเพลงมาร้องได้ยาก เพราะเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น 


ส่วนการทำกายบริหารร่างกาย ท่านก็บอกว่า โดยส่วนตัวร่างกายของท่าน จะไม่สามารถใช้พละกำลังในการออกกำลังกายได้ แต่ท่านก็ทำด้วยการรำมวยไทเก็ก ที่ไม่ได้หักโหมมากนัก อีกทั้งยังสามารถใช้สมาธิในการออกกำลังกายได้ดีมาก 


ซึ่งก็จะสามารถเป็นประโยชน์ทั้งร่างกายและจิตใจด้วย อีกอย่างหนึ่งที่ผู้สูงวัยจะต้องมีคือ การใช้เวลาในการรับแสงแดด ท่านบอกว่า ท่านจะต้องออกไปยืนรับแสงแดดด้วยเท้าเปลือยเปล่าที่สนามหญ้า  อย่างน้องยี่สิบนาทีทุกวัน เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย และให้ไอดินไหลผ่านฝ่าเท้าเข้าสู่ร่างกายด้วยเช่นกัน
         

ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้สูงวัยท่านนี้ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติตนในยามชรา และหากมองด้วยสายตาของบุคคลทั่วไป คงทายไม่ออกว่าท่านได้มีวัยที่เกินแปดสิบปีไปแล้ว ผมเองแม้จะเพิ่งใกล้เจ็ดสิบปี ก็คงต้องรับฟังความรู้ใหม่ๆ ที่ท่านได้ถ่ายทอดให้มาครับ