การเรียนหลักสูตรผู้บริบาลที่ไต้หวัน

02 เม.ย. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสร่วมประชุมออนไลน์กับสำนักงานส่งเสริมกิจการชาวจีนโพ้นทะเลของไต้หวัน ในฐานะผมเป็นผู้ช่วยเลขานุการสมาคมนักเรียนเก่าไต้หวัน(ประเทศไทย) เพื่อรับฟังการส่งเสริมการศึกษาให้แก่ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล 


ซึ่งหน่วยงานนี้ ได้มีการช่วยเหลือและส่งเสริมการให้ทุนการศึกษามาช้านานแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1963  ก่อนผมไปเรียนที่ไต้หวันเสียอีกครับ ซึ่งในปีนี้ก็ได้มีการจัดทำโครงการส่งเสริมให้เรียนวิชาชีพที่ประเทศไต้หวันครับ

ผมจำได้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไต้หวันได้มีโครงการหนึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยต้าถง จัดทำโปรแกรมเรียนระยะสั้นที่ประสบความสำเร็จมากโครงการหนึ่ง ซึ่งก็คล้ายๆ กับโครงการที่กำลังจะทำอยู่ในขณะนี้ 


ในยุคนั้นเป็นยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมหลักที่เข้ามาสู่ประเทศไทยคืออุตสาหกรรมสิ่งทอ และการ์เม้นท์ รัฐบาลไต้หวันในยุคนั้นได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต้าถง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรรมสิ่งทอ อีเล็คโทนิคและเครื่องจักรกล 

โดยมหาวิทยาลัยนี้เป็นของบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ยี่ห้อต้าถง ถ้าใครเคยไปไต้หวันก็คงจะรู้จักดี เพราะในยุคนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของไทยเรา ยังล้าหลังเขามาก เขาได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมความสัมพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลของไต้หวัน จัดทำโครงการส่งเสริมให้นักเรียนชาวจีนโพ้นทะเล กลับไปเรียนหลักสูตรเครื่องจักรกลเท็กซ์ไทร์ 


ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เพราะลูกหลานจีนหลายคน ที่อยู่แถบพระประแดง ก็ไปเรียนจบโครงการนี้ กลับมาประกอบธุรกิจในประเทศไทย จนร่ำรวยมีฐานะกันเยอะพอควรเลยครับ
       

วัตถุประสงค์ของสำนักงานนี้ เพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลได้มีความรู้ด้านภาษาจีน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งระดับการศึกษามีตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา ส่วนโครงการนี้ทางสำนักงานเปิดรับนักเรียนที่จบมัธยมปลายเพื่อเข้ามาเรียนในระดับอุดมศึกษา  

 

โดยใช้ชื่อหลักสูตรของโครงการว่า “หลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคนิคเยาวชนโพ้นทะเล” ส่วนใหญ่ของหลักสูตรนี้ จะเรียนเรื่องเทคนิคด้านไอที ด้านช่างซ่อมเครื่องยนต์ ด้านคอมพิวเตอร์ ด้านบริบาลผู้สูงอายุ ด้านพยาบาล ด้านโมบิลออโตเมชั่น ฯลฯ 


เพื่อส่งเสริมทักษะวิชาชีพให้แก่เยาวชน ในการนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคตโดยตรง เมื่อกลับมาสู่มาตุภูมิของตนเองหรือย้ายถิ่นฐานไปที่ไหน ก็สามารถนำความรู้เหล่านี้มาใช้ดำรงชีพได้ 


อีกทั้งยังจะได้นำเอาความรู้นั้นมาพัฒนาประเทศภูมิลำเนาของตนเอง และยังช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาขึ้น และยังช่วยให้การค้าระหว่างประเทศของไต้หวันกับประเทศของผู้เรียน 


ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนที่ได้ผ่านโครงการของสำนักงานนี้ ไปเรียนจบมาจากไต้หวันแล้วประมาณ สองหมื่นกว่าคน และเกือบจะทุกคนล้วนกลับมาเป็นกำลังให้กับประเทศชาติของตนเองทั้งในทางตรงและทางอ้อมทั้งสิ้น สองหมื่นกว่าคนแล้ว
       

ในปีการศึกษานี้ หลักสูตรที่น่าสนใจสำหรับผม คือหลักสูตรบริบาลผู้สูงอายุ เพราะการบริบาลผู้สูงอายุในประเทศไทยเรา ต้องยอมรับว่าเรายังตามหลังเขาอยู่นิดๆ เพราะไต้หวันเขารับวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งการศึกษาจากญี่ปุ่นที่เข้ามามีบทบาทในไต้หวันมานานหลายสิบปีแล้ว 


ดังนั้นความรู้ทางด้านบริบาลผู้สูงอายุของเขา เท่าที่ผมได้ไปดูงานมา คิดว่าไม่ได้แตกต่างจากญี่ปุ่นมากนัก ถ้าเด็กไทยเรามีโอกาสได้ไปศึกษาหาความรู้ที่นั่น แล้วนำมาต่อยอดที่ประเทศไทยเราได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียวครับ
            

ปีนี้ไต้หวันได้เปิดกว้างให้แก่เยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นพิเศษ โดยมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมในโครงการนี้ทั้งหมด 9 แห่ง 13 ชั้นเรียน กระจายไปทั่วเกาะไต้หวันตั้งแต่เหนือจดใต้ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัย แต่โครงการนี้จะเป็นการสอนคล้ายๆ กับวิทยาลัยโปลีเทคนิคทั่วไป 

 

ซึ่งหากจบหลักสูตรจะมีใบประกาศณียบัตรให้ หากต้องการที่จะเรียนต่อจนจบขั้นปริญาตรี ก็สามารถใช้ใบประกาศณียบัตรนี้ เข้าเรียนต่อยอดอีก 2 ปีก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยจะต่อยอดที่มหาวิทยาลัยเดิมหรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในไต้หวันได้เลย 
     

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร จะต้องเป็นชาวจีนโพ้นทะเลโดยกำเนิด หรือผู้ที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ต่างประเทศไม่น้อยกว่า 6 ปี หรือผู้ที่มีใบรับรองการย้ายถิ่นพำนักจากรัฐบาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และต้องจบการศึกษามัธยมปลายหรือเทียบเท่า จึงจะมีสิทธิในการสมัครได้ 


ส่วนค่าเล่าเรียน ทางสำนักงานส่งเสริมความสัมพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลของไต้หวัน เป็นผู้ให้ทุนการศึกษาเป็นเวลา 2 ปี แต่ต้องมีผลการเรียนอยู่ในเกณท์ที่ดี (พูดง่ายๆ คือห้ามสอบตกนั่นแหละ) อีกทั้งยังสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสในการกึ่งเรียนกึ่งทำงานได้ด้วย 


นอกจากนี้ยังมีให้สิทธิประกันสุขภาพให้แก่นักเรียนด้วย มีทุนสำหรับจัดหาอุปกรณ์การเรียนบางชนิดที่จำเป็นต่อการเรียน ทุนสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาจัดดำเนินการ และเงินอุดหนุนหากประสบภัยต่างๆ ด้วย เพื่อให้นักเรียนได้เล่าเรียนด้วยความอุ่นใจ 
       

ในส่วนค่าเดินทางไปใต้หวันและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ทางนักเรียนหรือผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด ถ้าใครสนใจอยากจะรับทุนไปเรียน ก็ลองไปสมัครติดต่อที่สมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย อยู่ที่ 52 ซอยสะพานคู่ ถนนพระราม 4 แขวงทุงมหาเมฆ เขตสาทร กทม.  โทร:-02-679-7137-9 ดูนะครับ