เดิมพันขึ้นดอกเบี้ย ลำบาก...ยากจนไปทั่ว

13 ก.ค. 2565 | 07:40 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังถูกกดดันอย่างมาก จากทั้งปัจจัยด้านเงินเฟ้อในประเทศที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 7.66-8% และมีการประเมินว่าอาจจะทะลุไปเป็น 9-10% ในช่วงไตรมาส 3 ของปี
 

นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่ง ผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 33.50 บาท ตอนนี้หล่นลงไปถึง 36.20 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐไปแล้ว
 

ตลาดเงิน ตลาดทุนจึงมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแน่นอน 0.50% ในการประชุมรอบหน้าเดือนสิงหาคม จากที่เคยคาดว่าจะปรับขึ้น 0.25% จากนั้นจะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องอีกครั้งละ 0.25% ไปจนถึงปลายปี
 

เพราะถึงตอนนี้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นช้าที่สุด ในขณะที่ธนาคารกลางอื่น ๆ กำลังเร่งปรับดอกเบี้ยกันเร็วขึ้น 
 

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระดับดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับโลกพบว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่ยังคงมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าไทย เช่น ญี่ปุ่น และ ธนาคารกลางยุโรป 



 

หากนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน พี่ใหญ่ในตลาดเงินของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ได้ดาหน้าปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว 1.5% และคาดว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนถึง 3.5-4% ภายในต้นปีหน้า 
 

ประเทศ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว 1.25% 
 

อังกฤษปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว 1%
 

เกาหลีใต้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 0.75% 
 

และมีธนาคารกลางหลายแห่งได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในอัตราสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 0.50-0.75% มากกว่าปกติที่มักจะขยับขึ้น-ลง ดออกเบี้ยกันครั้งละ 0.25%

 


ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่า วัฎจักรดอกเบี้ยตํ่าได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว จากวิกฤติเงินเฟ้อที่มาพร้อมกับราคาสินค้าที่สูงลิ่ว
 

บรรดาผู้บริหารธนาคารกลาง แทบทุกแห่งต่างมีมุมมองที่คล้ายกันว่า ใครปรับขึ้นดอกเบี้ยช้า จะเจอพิษอัตราเงินเฟ้อรุนแรงจนคนในชาติแบกกันไม่ไหว 
 

คำถามคือถ้าไทย ขึ้นดอกเบี้ยช้าในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและน่าจะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก แถมเจอการอ่อนค่าของเงินบาทที่ตอนนี้อ่อนค่ามาก ผมว่าน่าจะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น และค้างเติ่งอยู่ในระดับสูงนานแน่
 

ประเทศไหนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้า จะทำให้เกิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่า จะมีความเสี่ยงที่เงินจะอ่อนค่าจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน ทำให้ผลจากเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นไปอีก
 

ดูอย่างญี่ปุ่นได้เลยครับ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ห่างกันมาก และประกาศชัดเจนว่าจะยังคงผ่อนคลายต่อไป ผลที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบกว่า 24 ปี
 

ร้ายกว่านั้น หากราคาพลังงานยังคงถีบตัวสูงไปยาวนาน โอกาสที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลในจำนวนมากมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก
 

เหนือกว่านั้น การขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นปรับไม่ทันดอกเบี้ยในตลาดโลก ซึ่งในที่สุดจะสะท้อนออกมาในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายมาเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจในประเทศนั้น คึกคัก สดใส ทั้งในตลาดทุนและตลาดเงิน
 

ที่ผ่านมาผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามทำความเข้าใจกับสังคมเศรษฐกิจว่า ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตามก้นสหรัฐฯ สาเหตุเพราะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นของไทย เกิดขึ้นจากด้านอุปทานที่เกิดขึ้นชั่วคราวเป็นหลัก มิใช่เกิดขึ้นจากกำลังซื้อที่ร้อนแรง และสามารถคลี่คลายลงได้ เพราะมาจากราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่เกิดชอร์ตจากสงคราม
 

นอกจากนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาเร็วแรง รังแต่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี จะทำให้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเกิดปัญหาในวงกว้างเพราะมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยมากขึ้น



 

ประการสุดท้าย การขึ้นดอกเบี้ยและการดูแลส่วนต่างดอกเบี้ย จะมีผลต่อค่าเงินบาทไม่มากนัก
 

บางคราวยังลากยาวไปว่า ประเทศไทยมีเสถียรภาพด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งมาก ทำให้ยังมีความสามารถในการความผันผวนของค่าเงินได้
 

ใครที่ยังไม่รู้ว่า นโยบายการเงิน จะออกหัวออกก้อยลองพิจารณาจาก สัญญาณทางวาจา-Verbal intervene จาก “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท. ที่ส่งสัญญาณออกมาในวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ในงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2565….



“การดูแลเงินเฟ้อ ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ขอยํ้าว่า จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยามจำเป็น และต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วงหลังผมเห็นเยอะมาก  บทวิเคราะห์ ตามสื่อ บอกว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างนี้ๆ เราก็ต้องขึ้นตามแบบนี้ๆ เร็วแบบสไตล์เขา”
 

“แต่บริบทเขากับบริบทเรามันต่างกันโดยสิ้นเชิง บริบทประเทศพัฒนาแล้ว สหรัฐ ยุโรป เขาเจอบริบทที่อุปสงค์เขาโตเร็วมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันไปเร็ว ไปแรง เขาเศรษฐกิจ over heat ตลาดแรงงานเขามาแรงมาก แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น ของเรา เราเพิ่งเริ่มฟื้นตัว...
 

“โจทย์ของต่างชาติ คือ ทำอย่างไร ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพื่อควบคุมเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจเขา soft landing แต่ของเราไม่ใช่ soft landing โจทย์ของเรา คือ ทำให้การฟื้นของเรา มันไปได้ต่อเนื่อง เป็นเรื่อง Smooth takeoff ให้ takeoff ได้อย่างไม่สะดุด ดังนั้น การ take action ของนโยบายการเงิน ทางฝั่งดอกเบี้ยต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มันไม่ใช่บทแบบที่เห็นในเมืองนอกที่ต้องเหยียบเบรกแรง โจทย์ของเรา ....เป็นเรื่องการถอนคันเร่ง” 
 


นี่คือแนวคิดของ เศรษฐพุฒิ ที่สวมหมวก 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นผู้ว่าการ ธปท. ใบที่สองเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่ทำหน้าที่พิจารณาควบคุมอัตราดอกเบี้ย และค่าเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ
 

ไม่ว่าการตัดสินใจของผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจไทยจะออกมาอย่างไร ผมขอเตือนไว้กันก่อนว่า คนไทยจะต้องเจอกับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยแน่นอน หนีไม่พ้นจะเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม ก็ต้องเจอแน่
 

เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนก็สูงอยู่แล้ว ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนอัตราดอกเบี้ย 
ใครที่ผ่อนบ้าน ใครที่กู้ยืมเงินมาใช้เจอดี เงินไม่พอจ่ายมาเยือนถึงถิ่น ต่อมาเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น สภาพคล่องในตลาดการเงินก็ตึงตัว ธุรกิจที่ไปไม่ไหวอยู่แล้ว ก็สลบ หุ้นกู้ภาคเอกชนก็ต้องขยับขึ้นไปอีก ไม่แน่เราอาจเจอการผิดนัดชำระหนี้ หนี้เอ็นพีแอลที่ซุกไว้ชั่วคราว พุ่งพรวดเพิ่มขึ้นมาได้ง่ายนะจิบอกไห๋


ไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็อันตราย ขึ้นดอกเบี้ยคนส่วนใหญ่ในประเทศก็กระอัก....เอางัยดีพี่น้อง


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 หน้า 6