กรรมไล่ล่า“บิตคัพ” นักเลงคีย์บอร์ดต้องศึกษา

09 ก.ค. 2565 | 01:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

30 มิถุนายน 2565 ตลาดสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี่ หรือ โลกการลงทุนเหรียญในโลกเสมือนชั้นอวกาศ ผ่านธุรกรรมในระบบบล็อกเชนแตกกระเจิง


กรณีแรก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งปรับเงินก้อนโตจากบุคคลที่เป็นผู้บริหาร ธุรกิจเอ็กเชนจ์ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย 2 ราย รายละ 24 ล้านบาทเศษ  

คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลัง ก.ล.ต. พบเหตุสงสัยว่า อาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro โดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 4 ราย ได้แก่ (1) บริษัทสตางค์ (2) บริษัท LLC Fair Expo ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro


(3) นายปรมินทร์ อินโสม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทสตางค์ 

(4) Mr. Mikalai Zahorski เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ ของบริษัท LLC Fair Expo เป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo กระทำความผิดดังกล่าว

 
ก.ล.ต. พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 บริษัท LLC Fair Expo ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 3 เหรียญได้แก่ Bitcoin (BTC) Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP) โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของ Market Maker ในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro ซึ่งการจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดัโดยมีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 96-99 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของบัญชีซื้อขายของ Market Maker หรือคิดเป็นร้อยละ 81-97 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด 


จึงเป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 3) กระทง 

 
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. และห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล


กรณีที่สอง  ก.ล.ต. พบเหตุสงสัยว่า อาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub จึงได้ตรวจสอบ โดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 3 ราย ได้แก่


(1) บริษัท บิทคับ


(2) นายอนุรักษ์ เชื้อชัย ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Bitkub 


(3) นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดดังกล่าว 


บริษัทบิทคับ โดย นายสกลกรย์ ได้ทำสัญญากับนายอนุรักษ์ให้นายอนุรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และได้ให้นายอนุรักษ์ยืมเงินเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นายอนุรักษ์ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin (BTC) Bitcoin Cash (BCH) Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP) โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub


การจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 84-99 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของนายอนุรักษ์ และตั้งแต่ร้อยละ 57-99 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยบริษัทบิทคับ และ นายสกลกรย์ รับทราบถึงการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายของนายอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีการทักท้วงการส่งคำสั่งซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ของ นายอนุรักษ์ ดังกล่าว


การกระทำของบริษัท บิทคับ และ นายอนุรักษ์ เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ซื้อ หรือ ขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)


ส่วนการกระทำของ นายสกลกรย์ เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท บิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัท บิทคับ กระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)


คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่าย 


จึงมีคำสั่ง (1) ให้บริษัทบิทคับ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมาย และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท 


(2) ให้นายอนุรักษ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมาย และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน


(3) ให้ นายสกลกรย์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท และให้นายสกลกรย์ ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทบิทคับอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน 


หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง 


คล้อยหลังจากนั้น นายสกลกรย์ ออกมาชี้แจงกรณีโดน ก.ล.ต. สั่งปรับ และสั่งห้ามเป็นผู้บริหาร 12 เดือน ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) ส่วนตัว ระบุว่า การถูกปรับครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 2562 


ณ ขณะนั้นวงการคริปโตฯ ใหม่มาก พึ่งจะได้ License กัน ผมเชื่อว่าการกระทำ การสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ เป็นสิ่งที่ Exchange ทั่วโลก ณ เวลานั้น มีระบบพวกนี้เกือบหมด จึงทำให้มีความผิดพลาด และความไม่เข้าใจกฎเกณฑ์อย่างถี่ถ้วน จากทั้ง Bitkub และ Satang (ไม่ขอพาดพิง BX เพราะปิดไปแล้ว)


และเมื่อเราโดน ก.ล.ต. เข้ามาตักเตือน และสั่งหยุด และเราก็ยอมรับ และหยุดการกระทำตั้งแต่ ก.ล.ต. เข้ามา พร้อมทั้งมีการติดตั้งระบบป้องกันการจับคู่กันเองของคำสั่งซื้อขายที่ส่งมาจากบัญชีเดียวกัน และ มีทีม Market Surveillance เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมอันไม่เหมาะสม เช่น การส่งคำสั่งซื้อขายจับคู่กันเองจากหลายบัญชี โดยเร็วที่สุดตั้งแต่นั้นมา


สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อเหลือเกินว่า การที่ ก.ล.ต.ได้สั่งปรับ และยกเรื่องนี้เป็นสำคัญ หลังจากผ่านมา 3 ปี มาแล้วนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการกำกับดูแลที่เข้มข้น เข้มงวดขึ้น ซึ่งผมหวังว่ามาตรฐานที่ดีเช่นนี้ จะเป็นการกระทำที่ไม่เจาะจง เพียง Exchange บางราย แค่ Bitkub หรือ Satang แต่ ก.ล.ต. จะเข้าตรวจสอบทุกเจ้าที่มี License อยู่ในปัจจุบันด้วย 


เพราะผมเชื่อว่า เพื่อความบริสุทธิ์ใจ ผู้ประกอบการท่านอื่นก็จะยินดีให้ทาง ก.ล.ต. เข้าไปตรวจสอบเช่นกันครับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น จนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 3 ปี Bitkub ไม่เคยปั้ม Volume trade รายได้ และ ภาษีที่ Bitkub จ่าย เมื่อปีที่แล้วเป็นคำตอบที่ดีที่สุด


ผมยังคงสู้อยู่ และดูแลภาพรวมของกลุ่ม Bitkub เช่นเดิม  ยังมีอะไรให้เราต้องพัฒนาอีกมากมาย หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจและ เชื่อมั่นใน Bitkub ต่อไปครับ


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดนก.ล.ต.สั่งปรับ การกระทำผิดในธุรกิจใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่รวยจนกันในพริบตาโดนสั่งปรับฐานกระทำผิดเกิดขึ้นเป็นระลอก 


ควรอย่างยิ่งที่บรรดานักลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ ที่ขยายตัวรวดเร็วร่วม 3 ล้านราย ที่มีการสั่งซื้อเหรียญกันเป็นนาที วันละเป็น 1 แสนล้านบาท จะต้องพิจารณาและเพิ่มความระมัดระวัง ในการตัดสินใจควักเงินมาลงทุน


เงินของท่านมีความหมาย อย่าปล่อยให้ใครมาฉกฉวยความรวยจนจากเงินของท่าน