รัฐบาลจำนน “ฟิลลิป มอริส” พ่ายศึกนอก-ศึกในทิ่มแทง

06 พ.ค. 2565 | 23:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ประเด็นการตัดสินใจ “ยุติข้อพิพาทจากการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่” ของ บริษัท ฟิลลิป มอริส จากประเทศฟิลิปปินส์ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565 แลกกับการที่ประเทศฟิลิปปินส์ จะไม่ขอใช้สิทธิ์ตอบโต้ทางการค้ากับไทยเพิ่มเติมอีก กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่กำหนดทิศทางของประเทศไทยในอนาคต
 

หากพิจารณาจากสาระสำคัญของร่างข้อตกลง ซึ่งเกี่ยวพันกับข้อพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์กับไทยในองค์การการค้าโลก (WTO) กรณีที่ไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส จากการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ ที่กระทรวงการคลังได้ขอความเห็นชอบจาก ครม.

ก่อนที่ ครม.รัฐบาลลุงตู่จะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการอนุมัติลงนามใน “ร่าง Uberstanding between the Philippines and Thailand on agreed procedures towords a comprehensive settlement of the dispute in Thailand-customs and fiscal measures on cigarettes from the Philippines” นั้น สาระสำคัญอยู่ที่ว่าฟิลิปปินส์จะไม่ขอใช้สิทธิ์ตอบโต้ทางการค้ากับไทยเพิ่มเติมอีก และการสืบสวนสอบสวนใดๆ จะอยู่ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งไทยจะต้องทำตามข้อตกลงทั้งหมดด้วย 
 

ปัญหาคือร่างข้อตกลงครั้งนี้ จะทำให้รัฐบาลไทยเสียเปรียบหรือเอื้อประโยชน์ให้กับ “ฟิลลิป มอร์ริส” หรือไม่อย่างไร เพราะถ้าระงับข้อพิพาทจากการสำแดงภาษีนำเข้ากรณีฟิลิปปินส์นั้น เกี่ยวพันกับความเสียหายราว 6.8 หมื่นล้านบาท จะมีผลผูกพันไปถึงคดีความอีกหลายคดี ที่ศาลไทยได้ตัดสินคดีไปแล้ว

คดีแรก ศาลอาญา มีพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.185/2559 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จำกัด  นายเจอรัลด์ มาโกลีส ผู้จัดการสาขา บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 8 ราย ในข้อหาสำแดงราคานำเข้าบุหรี่เป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร 

 

โดยศาลได้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานสำแดงราคานำเข้าบุหรี่อันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จึงสั่งปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้าที่นำเข้า คิดเป็นเงิน 1,225  ล้านบาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2-8
 

กรณีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากระหว่างปี พ.ศ. 2546-2549 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส(ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล (PMI) ประเทศสหรัฐอเมริกา จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์ อาศัยสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างไทย-อเมริกา 2511 ได้นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร่ (Marlboro) และแอลแอนด์เอ็ม (L&M) จากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ฟิลิปปินส์ (PMP) ประเทศฟิลิปปินส์ 


 

แต่ยักษ์ใหญ่รายนี้กลับสำแดงราคานำเข้าบุหรี่มาร์ลโบโร่จากฟิลิปปินส์ ในราคา 7.76 บาทต่อซอง และสำแดงราคาบุหรี่แอลแอนด์เอ็มในราคา 5.88 บาทต่อซอง ขณะที่ บริษัท คิงส์เพาเวอร์ นำเข้ามาในราคาเฉลี่ย 27 บาท ต่างกัน   16-20  บาท/ซอง
 

ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พบว่า เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาส่งออกจากประเทศต้นทาง น่าจะมีการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ซึ่งประกอบด้วย ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินกองทุนส่งเสริมสุขภาพ จึงรับทำคดีนี้เป็นคดีพิเศษที่ 79/2549 และได้ส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการ 
 

ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาล ในข้อหานำเข้าบุหรี่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร โดยเจตนาที่จะฉ้ออากรที่จะต้องเสียสำหรับการนำเข้า ตามมาตรา 27 และมาตรา 99 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 จำนวน 272 ใบขน คิดเป็นมูลค่าที่ประเมินจากราคาขาย 68,000 ล้านบาท…ถ้าตกลงยุติข้อพิพาทกับฟิลิปปินส์ คดีนี้ก็จบ
 

แต่จะพัวพันไปคดีที่สอง ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาไป เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ด้วยการกลับคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง โดยให้กรมศุลกากรเป็นฝ่ายชนะคดี กรณีออกหนังสือแจ้งประเมินภาษี บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด สำแดงราคาบุหรี่นำเข้าจากประเทศอินโดนิเซีย ต่ำกว่าความเป็นจริง ตามใบขนสินค้าขาเข้า 210 ฉบับ 


 

คดีนี้ ศาลฎีกา พิพากษา “ไม่เพิกถอนการประเมินภาษีนำเข้า, ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมศุลกากร รวมทั้งสั่งให้แก้ไขคำวินัจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 เกี่ยวกับการกำหนด “ราคาศุลกากร”นั้น โดยให้หักกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปในอัตรา 15.05%....
 

เชื่อหรือไม่จนถึงบัดป่านนี้ ยังไม่รู้ว่า ฟิลลิป มอริส จะต้องจ่ายอีกเท่าไหร่ 
 

เพราะทางฟิลลิป มอริส ฮึดสู้แย้งคำพิพากษาถึงขนาดออกแถลงการณ์ว่า “เคารพการตัดสินของศาล แต่เรื่องการสำแดงราคาประเมิน เราเห็นว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายศุลกากรของไทย และข้อตกลงการประเมินราคาศุลกากรขององค์การการค้าโลก (WTO) และยังไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของคณะระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคาศุลกากรสินค้านำเข้าของบริษัทระหว่างประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทย”  
 

เชื่อผมเถอะ ปมว่าด้วยการยุติข้อพิพาทกับฟิลิปปินส์ในเรื่องการสำแดงภาษีของยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกา ที่รัฐบาลลุงตู่ยอมจำนนเพื่อลดปัญหาการค้าไทย-ฟิลิปปินส์ จะกลายเป็นคมหอกปลายดาบพุ่งใส่รัฐบาล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังมาถึง ว่าสมประโยชน์ “ฟิลลิป มอร์ริส” แน่นอน


 

แต่การอภิปรายจะโค่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ผมไม่รู้ แต่เลือดซิบ และเสียวสันหลังวาบแน่นอนเจ้าประคุณเอ๋ย
 

ร้ายกว่านั้น คดีที่ศาลรับพิจารณาความอาญา มาตรา 35 และศาลชั้นต้นก็ตัดสินไปแล้ว สามารถถอนฟ้องได้หรือไม่ จะกลายเป็นคมหอกทิ่มแทงใส่รัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์-นายดอน ปรมัติวินัย รมว.ต่างประเทศ- นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยับแน่นอน
 

แม้ว่าในความจริง ถ้าติดตามคดีนี้ ไทยพ่ายศึกในการตัดสินของ WTO มา 3 รอบ ทั้ง 3 รอบ “องค์กรระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก : WTO’s Dispute Settlement Body” ระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ WTO ที่มีการฟ้องคดีอาญาบริษัทผู้นำเข้าบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ในข้อหาสำแดงราคาบุหรี่ต่ำกว่าความเป็นจริง จึงต้องมีการถอนฟ้องทันที เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้


 

คำตัดสินของ WTO’s Dispute Settlement Body ยังยืนยันว่า “การฟ้องร้องในคดีอาญาต่อผู้นำเข้า” อยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของ WTO เช่นกัน และประเทศไทยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำตัดสินก่อนหน้านี้ และแจ้งให้ยุติการฟ้องร้องในเรื่องนี้ในทันที โดยระบุว่า “ประเทศไทยไม่มีเหตุอันชอบธรรมในการปฏิเสธราคานำเข้าของฟิลลิป มอร์ริส”
 

จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2556 รัฐบาลฟิลิปปินส์แสดงความกังวลที่ประเทศไทยยังคงนิ่งเฉย ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามคำตัดสินของ WTO และยังคงเดินหน้าฟ้องคดีอาญาต่อบริษัทผู้นำเข้า จึงแจ้งใช้สิทธิ์วีโต้ในข้อพิพาททางการค้าระดับทวิภาคีในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อจนปัจจุบัน
 

7 มีนาคม 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศมีเอกสารลับ ขอระงับข้อพิพาทกรณีสินค้าบุหรี่นำเข้า เพราะกระทบความสัมพันธ์ไทยกับฟิลิปปินส์ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ ขอให้ระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์กรณีสินค้าบุหรี่นำเข้า


 

หนังสือดังกล่าวมีใจความว่า “กระทรวงการต่างประเทศขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาทำให้คำสั่งไม่ฟ้อง บริษัท ฟิลลิป มอริส อินเตอร์เนชั่นแนล (PMI) กลับมามีผลใหม่ หรือหยุดกระบวนการดำเนินคดีในศาลไทยชั่วคราว ตามข้อเสนอของบริษัท PMI….
 

ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ยุติการฟ้องร้องคดีอาญากับบริษัท ฟิลลิป มอริส ประเทศไทย (PMLI) และทบทวนการตีความและการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้ WTO กรณีที่ Compliance Panel ตัดสินว่ามาตรการของไทยขัดต่อพันธกรณีภายใต้ WTO ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นว่า หากสามารถทำได้โดยเร็ว ไทยก็อาจเจรจากับฟิลิปปินส์โดยตรงเพื่อให้ยุติคดีใน WTO
 

...แต่หากไทยกับฟิลิปปินส์ ไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติร่วมกันได้ และคำตัดสินของ WTO มีผลเป็นที่สุดแล้ว ไทยจะมีพันธกรณีที่จะต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรการที่ยังขัดกับกฏเกณฑ์ภายใต้ WTO หากไม่ปฏิบัติตาม ไทยก็อาจต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือ รับผลของมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากฟิลิปปินส์ เป็นมูลค่าเท่ากับความเสียหายที่อีกฝ่ายได้รับ 


 

ซึ่งฟิลิปปินส์ อาจประเมินค่าความเสียหายเท่ากับค่าปรับที่ ฟิลลิป มอร์ริส ประเทศไทย ต้องจ่าย 68,000 ล้านบาท ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทยกับฟิลลิปินส์ และความเชื่อมั่นของไทยจากประชาคมโลก
 

12 ก.ค. 2562 คณะผู้พิจารณาขององค์การการค้าโลก ออกมาถล่มว่า ประเทศไทยดำเนินการขัดต่อกฎหมายขององค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายศุลกากร ซึ่งประเทศฟิลิปปินส์ได้เริ่มกระบวนการระงับข้อพิพาทในปี 2551
 

พ่ายศึกนอกมาเจอศึกในทิ่มแทงนี่มันแรงนะคุณลุง!