งบลับข้า "ใครห้ามแตะ" ตรวจสอบยาก=รั่วไหล?

06 เม.ย. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ปัญหาว่าด้วยเรื่อง “งบราชการลับ” ที่ปกติจะถูกแฉออกมาทุกคราว ยาม เมื่อมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีฉาวขึ้นมาอีกคราว เมื่อพรรคฝ่ายค้านจัดโครงการ “ฝ่ายค้านรับฟังปัญหาทั่วไทยเพื่อประชาชน” แล้ว ถูก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ แฉข้อมูลในการจัดทำงบประมาณออกมาว่า....


หนึ่ง “วันนี้ท่านทราบไหมว่า เกษตรกรไทยเราถูกรัฐประหารตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดิมเกษตรกรจะกำหนดการถือครองที่ดินของประชาชนคนไทย ถ้าทำเกษตร 50 ไร่ ถ้าทำอุตสาหกรรม 5-10 ไร่ พาณิชย์ 5 ไร่ ที่อยู่อาศัย 5 ไร่  แต่หลังจากปฏิวัติ เราไม่กำหนดเพดาน วันนี้ท่านทราบไหมว่า คนที่มีที่ดินเกินกว่า 50 ไร่ ไปจนถึงไม่มีขีดจำกัดในประเทศไทย มีไม่ถึง 3 ล้านคน ส่วนเกษตรกรทั้งหมดไม่มีที่ดิน แล้วปรากฏว่า ที่ดินที่เหลือเป็นที่ของรัฐหมด แม้เรามีสภาเกษตรกร แต่ที่ผมกับท่านพิจารณ์นั่งพิจารณางบประมาณ สภาเกษตรกรได้งบประมาณปีละ 300 ล้านบาท เขาต้องดูแลเกษตรกรทั้งหมด ต้องดูประมงอะไรที่เดือดร้อน”

สอง “แต่ท่านทราบไหมว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีคนไม่ถึง 300 คน จัดสรรงบประมาณลงไปเกือบหมื่นล้านบาท บางปีกว่าหมื่นล้านบาท แล้ว กอ.รมน. พอเดินเข้าไปดูเวลาใช้จ่ายเงินก็ใช้เป็นงบลับปีละเกือบ  6,000 ล้านบาท แล้วงบราชการลับตัวนี้ไม่เขียนในงบประมาณ แต่กลับไปซ่อนเอาไว้ ต้องไปดูที่ สตง.ตรวจ จึงจะรู้ว่าใช้เป็นงบราชการลับ แล้วคนใช้งบลับก้อนนี้คือใครรู้ไหม... คือ นายกรัฐมนตรี ที่เป็น ผอ.กอ.รมน. กับ ผบ.ทบ.ที่เป็นรองผอ.กอ.รมน."

 

ระเบิดตูมเดียวเสียวไปทั้งระบบ 18 มี.ค.2565 พันเอก วินธัย สุวารี รองโฆษก กอ.รมน. ต้องออกมาชี้แจงว่า การกล่าวถึงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของ กอ.รมน.มีคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 


ข้อมูลความจริงของ กอ.รมน.นั้น ในส่วนของข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่กับ กอ.รมน. ในแต่ละปีจะมีอยู่ประมาณ 64,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ที่ปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จชต. ประมาณ 54,000 อัตรา ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10,000 อัตรา จะปฏิบัติงานในพื้นที่ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ สรุปได้ว่า กอ.รมน. ไม่ได้มีบุคลากรเพียง 300 คน

งบประมาณประจำปีของกอ.รมน.ที่ได้รับการจัดสรร ในแต่ละปีจะอยู่ที่ 7,000 ล้านบาทเศษ งบส่วนใหญ่อยู่ในส่วนงานการแก้ไขปัญหา จชต. และเป็นงบประมาณด้านการบริหารจัดการกำลังพล 


ที่สำคัญที่สุด คือ รูปแบบหรือวิธีการใช้จ่ายงบประมาณของ กอ.รมน. จะอยู่ภายใต้ระเบียบและกรอบกฎหมายเหมือนกับทุกหน่วยราชการทุกประการ โดยเฉพาะ กอ.รมน. ไม่เคยมีงบราชการลับปีละเกือบ 6,000 ล้านบาท แต่อย่างใด


ระเบิดนาปาล์มที่พรรคฝ่ายค้านโยนไปลูกนี้ สร้างความสั่นสะท้านไปทั้งกองทัพ....

 

ผมเกาะติดเรื่องงบลับมายาวนานร่วม 20 ปี เห็นแล้วขอบอกว่า ฝ่ายค้านจับประเด็นถูกเลยทีเดียว…

 

กอ.รมน.เริ่มเป็นหน่วยรับงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2552 มีงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยประมาณปีละเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หน่วยงานนี้การจัดงบประมาณประหลาดปกติทั่วไปจะมีงบบุคลากรประมาณ 65-70% เป็นงบรายจ่ายอื่น 1-2%


ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งงบบุคลากรมากถึง 66.46% งบรายจ่ายอื่น 1.88%  แต่ กอ.รมน.นั้นกลับกัน มีการตั้งเป็นงบบุคลากรเพียงแค่ 0.91%แต่มีการตั้งงบรายจ่ายอื่นมากถึง 95%


และเมื่อเมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2552 พบว่า กอ.รมน.มีการตั้ง "งบรายจ่ายอื่น" ในสัดส่วนที่มากมาตลอดเฉลี่ย 94%-98%


แล้วเจ้า“งบรายจ่ายอื่นคืออะไร....งบรายจ่ายอื่น หมายถึง รายจ่ายที่ไม่เข้าลักษณะประเภทงบรายจ่ายใดงบรายจ่ายหนึ่ง หรือรายจ่ายที่สำนักงบประมาณกำหนดให้ใช้จ่ายในงบรายจ่ายนี้ เช่น 


(1) เงินราชการลับ 


(2) เงินค่าปรับที่จ่ายคืนให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง
 

(3) ค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา วิจัย ประเมินผล หรือพัฒนาระบบต่างๆ ซึ่งมิใช่เพื่อการจัดหา หรือปรับปรุงครุภัณฑ์ ที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้าง 


(4) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ฯลฯ


งบราชการลับแบบนี้แหละที่เป็นจุดอ่อนในการใช้จ่าย และการตรวจสอบ อาจมีคนเถียงผมว่าตรวจสอบได้ แต่ผู้ที่เกาะติดในเรื่องงบประมาณ จะพบว่า “ตรวจสอบยากมากถึงมากที่สุด”


แม้ในระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการ พ.ศ. 2564 จะกำหนดให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบได้ แต่....


ในระเบียบเขียนล็อกไว้ว่า “ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติ หน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับตามระเบียบนี้ และมิใช่เป็นการกระทําตามหน้าที่ราชการ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําความผิดวินัยอย่างร้ายแรง” และอาจต้องรับโทษตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 และให้ถือว่า “เป็นการกระทําผิดทางจริยธรรมด้วย”


“ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับนั้น ผู้ว่าการและบุคคลที่ผู้ว่าการแต่งตั้งตามวรรคสอง ต้องกระทําเป็นเรื่อง “ลับ”
 

ผู้ว่าการอาจแต่งตั้งคณะทํางานหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อช่วยในการตรวจสอบก็ได้ “แต่ต้องมีจํานวนน้อยที่สุดเท่าที่จําเป็น”


ชัดเจนว่า“งบลับข้า ใครอย่าแตะ”


หากล้วงลงไปในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จะพบว่ามีการตั้งงบประมาณลับในส่วนนี้ไว้ราว 0.04%  ของงบทั้งหมด  เฉพาะกระทรวงกลาโหม-สำนักนายกฯ มีงบราชการลับอยู่ก้อนโตกว่า 1,500 ล้านบาท


“กองทัพบก” ตั้งงบลับไว้ 290.5 ล้านบาทเศษ “กองทัพเรือ” 62 ล้านบาท “กองทัพอากาศ” 30 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 32 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 55 ล้านบาท 

 

สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การกำกับของ “นายกรัฐมนตรี” มีการตั้งงบลับไว้กว่า 558 ล้านบาท


สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 60 ล้านบาท สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 232 ล้านบาท สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 50 ล้านบาท กระทรวงต่างประเทศ 8 ล้านบาท กระทรวงแรงงานตั้งงบลับไว้ที่กรมการจัดหางาน 5 ล้านบาท


แล้วงบราชการลับใครคุม ในหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณเงินราชการลับ พ.ศ.2547 ระบุว่า “การสั่งจ่ายงบประมาณเงินราชการลับ ให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยข้าราชการในราชการนั้นอย่างน้อย 4 คน โดยหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน รับผิดชอบการใช้จ่ายงบราชการลับให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน โดยให้มีการจัดทำบัญชีการรับ - จ่ายเงิน และหลักฐานการจ่ายไว้ตรวจสอบด้วย
 

“ให้หัวหน้าส่วนราชการ รับผิดชอบในการรายงานผลการใช้จ่ายต่อนายกรัฐมนตรี เป็นประจำทุก 3 เดือน”


ตะแล่ม ตะแล่ม ตะแล่ม!