กินอย่างไรให้ ‘อร่อยปาก ไม่ลำบากไต’

05 มิ.ย. 2565 | 22:27 น.

Trick For Life

หลายคนเรียก “โรคไต” ว่าเป็นโรคคนรวย เพราะการดูแลรักษา ทั้งการฟอกไต การเปลี่ยนถ่ายไต ล้วนมีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ป่วยโรคไต จึงต้องดูแลใส่ใจรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่อง “อาหาร”

 

เพราะหากไม่ใส่ใจเรื่องอาหาร และปล่อยให้ผู้ป่วยกินได้เต็มที่ ก็จะเข้าข่าย “อร่อยปาก ลำบากไต

Trick For Life

แต่อาหารประเภทใดที่ผู้ป่วยไต สามารถรับประทานได้ หรืออาหารใดที่ควรหลีกเลี่ยง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มีคำตอบ โดยรศ. พญ. ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโรคไต จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า

              

ผู้ป่วยโรคไตต้องเลือกรับประทานอาหารเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด ได้แก่

 

“ผักและผลไม้”

X ควรหลีกเลี่ยง ผักและผลไม้ที่มีสีเข้ม เพราะอาจจะมีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง

                

/ รับประทานอาหารที่มีรสชาติจืด สีสันอ่อน เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา เต้าหู้ ผักกาดขาว ฟัก แอปเปิ้ล และสาลี่

              

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยต้องการที่จะรับประทานผักสีเข้ม ยกตัวอย่างเช่น ผักบุ้ง จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร โดยการนำผักไปต้มในน้ำประมาณ 5 นาที เพื่อให้โพแทสเซียมที่อยู่ในผักลงไปอยู่ในน้ำ พร้อมรินน้ำที่มีเกลือแร่เหล่านั้นทิ้งไปก่อนดำเนินการประกอบอาหารขั้นต่อไป

 

“อาหารโซเดียมสูง”

X หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ ทั้งเกลือหวาน เกลือจืด และเกลือเค็ม รวมถึงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ทั้งประเภทอาหารหมักดอง อย่าง กุนเชียง หมูยอ รวมถึงไข่แดง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กาแฟ

 

/   รับประทานอาหารในสูตรโปรตีนสูง (High Protein) คาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low Carb)

 

/  ผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในช่วงก่อนบำบัดทดแทนไต หรือการฟอกไต ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำ (Low Protein)

 

“การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ”

วิธีที่ผู้ป่วยโรคไตหรือทุกคนที่รักสุขภาพสามารถทำตามได้

/   อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อสินค้า โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นหลัก คือ ปริมาณพลังงาน โปรตีน ไขมัน และเกลือแร่เมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน ทั้งนี้ หากตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไปสำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยบางท่าน อาจพิจารณาตัวเลขจำนวนหน่วยบริโภคต่อผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อลดหรือปรับจำนวนอาหารให้เหมาะสมได้

/   มองหาตราสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ที่เป็นการแสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่า มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดหวาน มัน เค็ม ที่เป็นการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เช่นกัน

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,789 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565