การเกิด Reverse Succession ในธุรกิจครอบครัว

09 ก.ค. 2565 | 22:56 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ในงานสัมมนาของธุรกิจครอบครัวที่ Delhi ประเทศอินเดีย จัดโดยสถาบัน Indian Institute of Family Business ในตอนท้ายของการสัมมนานั้น ได้มีการจัดโปรแกรมการอภิปรายซึ่งมีข้อคิดที่หน้าสนใจอย่างมากจากเจ้าของบริษัททั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ต่างพูดคุยกันถึงเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวของตนเอง ซึ่งทุกคนต่างต้องการให้ลูกหลานของตนมารับช่วงต่อบริษัทของครอบครัว และต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขและปราศจากความเครียด

              

แต่เด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้มีความต้องการที่แตกต่างออกไปในการสร้างสิ่งต่างๆ ให้กับตนเอง และมีสิ่งที่ต้องทำในชีวิตต่างออกไป แม้ว่าลูกจะเป็นทายาทของครอบครัวแต่ไม่จำเป็นต้องมารับภาระในการรับช่วงต่อบริษัทของครอบครัวเช่นเดียวกับพ่อแม่ หรือหากแม้พวกเขาต้องการเข้ามาบริหารบริษัทจริงๆ ก็จะต้องแข่งขันกับมืออาชีพด้วย ซึ่งแม้ว่าลูกจะมีความสนใจบริษัทเพียงใด แต่พ่อแม่ก็ต้องพิจารณาเป็นอย่างมากก่อนที่จะส่งต่อบริษัทไปให้ทายาทรุ่นต่อไป

             

ในการอภิปรายของงานสัมมนาฯ มีบริษัทแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงในรัฐ Gujarat ของอินเดีย ซึ่งพ่อทำงานหนักเพื่อบริษัทมาตลอดชีวิต แต่ทันทีที่ลูกชายเข้ามารับช่วงต่อบริษัทซึ่งเป็นมรดกของครอบครัว พนักงานที่ซื่อสัตย์ซึ่งทำงานด้วยกันมาเป็นเวลานานก็เริ่มทยอยลาออก และมีการรับสมัครพนักงานใหม่และให้เข้ามาทำงานรับผิดชอบแทนพนักงานที่ทำหน้าที่อยู่แล้วในธุรกิจ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการเข้าใจธุรกิจ ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบในทางที่ไม่ดี

การเกิด Reverse Succession ในธุรกิจครอบครัว  

ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจของลูกชายที่เลิกจ้างพนักงานที่เก่าแก่ ในที่สุดพ่อก็จำเป็นต้องกลับมาอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาและอธิบายให้ลูกฟังถึงความสำคัญของพนักงานเก่าแก่ และตัดสินใจเอาพนักงานเก่าบางส่วนที่ลาออกไปแล้วกลับคืนมา ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Reverse Succession ปัญหาของกรณีเกิดจากลูกชายเชื่อเสมอว่า พนักงานเก่าแก่อาจรู้สึกสับสนกับบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลง และคนเหล่านี้ก็ยากจะมีแนวคิดใหม่ๆได้ ซึ่งบ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง แต่อาจจะไม่ทุกกรณีจึงต้องพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในธุรกิจอย่างรอบคอบก่อน

              

อย่างไรก็ตามจากกรณีข้างต้นลูกชายก็ไม่ได้ผิดในการบริหารจัดการบริษัทตามแนวทางของตนเอง แต่เป็นเพราะประสบการณ์ที่ยังน้อย จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควรได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสมก่อนที่จะจัดการกระบวนการของทั้งบริษัทตั้งแต่การมอบหมายอำนาจให้พนักงานไปจนถึงการวางตัวให้เป็นที่เคารพ หรือแม้แต่ในกรณีหากลูกไม่ต้องการเข้าร่วมในบริษัทจริงๆ ก็อย่าฝืนบังคับมากเกินไป จงปล่อยให้พวกเขาไปทำในสิ่งที่สนใจ

              

ในส่วนของบริษัทควรมอบให้กับบุคคลที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถจัดการกับหน้าที่ความรับผิดชอบได้  ซึ่งหากลูกหลานมีประสิทธิภาพมากพอก็สามารถส่งมอบหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ให้ได้เช่นกัน เนื่องจากการเติบโตของบริษัทล้วนขึ้นอยู่กับผู้นำทั้งนั้น ดังนั้นการเลือกผู้นำบริษัทจึงควรพิจารณาด้วยวิจารณญาณและความมุ่งมั่นให้มากที่สุด

 

ที่มา: Upadhyay, B.  18 Nov-2021.  Whom to give family business legacy? FAMILY MEMBER OR EFFICIENT EMPLOYEE.  Available: https://firstindia.co.in/news/india/whom-to-give-family-business-legacy-family-member-or-efficient-employee

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้าที่ 17  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565