สังคมมุ่งความสำเร็จและปัญหาของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

08 ก.พ. 2566 | 05:08 น.

สังคมมุ่งความสำเร็จและปัญหาของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,860 หน้า 5 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2566

มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ต้องเผชิญกับความเร็วของทุนในยุคโลกภิวัตน์ ช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคม ช่องว่างทางการเมือง เทคโนโลยีดิจิทัลพร้อมข้อมูลอันท่วมท้น ทำให้นักปรัชญาร่วมสมัยหลายคนทำการสำรวจมนุษย์และปัญหาที่มนุษย์เผชิญอยู่ ผลการ สำรวจและใคร่ครวญดังกล่าวพบลักษณะร่วมที่ละม้ายคล้ายกันจนน่าแปลกใจ

ฮันบยอนชุล นักปรัชญาชาวเกาหลีวิเคราะห์บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคเสรีนิยมใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของมนุษย์ยุคใหม่ในหนังสือ The Burnout Society และพบว่า อำนาจเชิงวินัยของฟูโกต์ ซึ่งกระทำการผ่านกฎระเบียบในพื้นที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาลจิตเวช คุก โรงเรียน และ โรงงาน ได้เปลี่ยนไปเป็นการกระทำการในพื้นที่ใหม่ๆ เช่น สำนักงาน ธนาคาร ตึก ห้างสรรพสินค้า และฟิตเนส แทน  ขณะเดียวกันสังคมแห่งกฎระเบียบและการควบคุมก็ได้แปลงร่างไปเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยเสรีภาพและมุ่งเน้นความสำเร็จ

 

 

 

มนุษย์เป็นทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน เป็นทั้งผู้ควบคุม และผู้ถูกควบคุมในตัวเองไปพร้อมๆ กัน ภายใต้คำขวัญที่ว่า เราทำได้และเราคู่ควรที่จะประสบผลสำเร็จ

ในยุคที่ทุกคนต่างมุ่งสู่ความสำเร็จภายใต้แนวคิดมองโลกในแง่ดีของสังคมพลังบวก การทำไม่ได้จึงเท่ากับการไม่คู่ควรที่จะได้รับความสำเร็จ แต่แรงกดดันที่สร้างขึ้นมาภายในตัวมนุษย์เพื่อสร้างให้เกิดความสำเร็จทำให้ทั้งผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ต้องเผชิญกับพยาธิสภาพทางจิตในลักษณะคล้ายคลึงกัน ทำให้มนุษย์และสังคมตกอยู่ภายใต้ความเหนื่อยหน่าย ซึมเศร้า และสูญสิ้นพลัง

 

 

สังคมที่มุ่งความสำเร็จเป็นสังคมแห่งการขูดรีดตัวเองที่ไม่ได้ถูกควบคุมจากอำนาจอื่นภายนอก แต่องค์ประธานหรือมนุษย์กลับประสบความสำเร็จในการขูดรีดตนเองอย่างมีประสิทธิภาพจนสูญสิ้นพละกำลังและมอดไหม้ภายใต้การเมืองแบบจิตวิญญาณแบบที่เรียกว่า Psychopolitics ในกระบวนการนี้ความก้าวร้าวรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นจนทำลายตัวของมนุษย์เอง

สำหรับฮันบยอนชุล ความเหนื่อยของมนุษย์ในสังคมมุ่งผลสำเร็จในยุคเสรีนิยมใหม่ แยกขาดมนุษย์ออกเป็นปัจเจกบุคคล ที่โดดเดี่ยวดูดกลืนพลังผู้คนจนอ่อนล้าเป็นความเหนื่อยที่โดดเดี่ยวจากคนและสิ่งอื่นๆ (divisive tiredness)

ขณะที่มุ่งขยายอัตตาของปัจเจกและนำไปสู่ความรุนแรง ต่างจากความเหนื่อยแบบสมานฉันท์ (reconciliatory tiredness) ที่มนุษย์มีสายสัมพันธ์ต่อมนุษย์คนอื่นๆ และสังคม ความเหนื่อยเป็นช่องทางในการสลายอัตตาของตนเอง ละวาง ทำให้สามารถเอ้อระเหย ถอยห่าง พินิจ และหลอมหลวมเป็นหนึ่งเดียวกับโลกได้ เมื่อความเหนื่อยล้ากลายเป็นเพื่อนที่ทำให้เราได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโลกอีกครั้ง 

 

 

สังคมมุ่งความสำเร็จและปัญหาของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

 

 

ฮันบยอนซุลจึงเสนอให้มนุษย์มีชีวิตที่ครุ่นคิดมากขึ้นและสร้างพลังลบที่สร้างสรรค์แทนพลังบวก ที่ล้นเกินผ่านสะท้อนผ่านข้อเสนอเรื่องความงามของศิลปะและความเดือดดาล (rage) ภายใต้การประท้วงของมวลชนที่ไม่ได้เป็นแค่ความเดือดดาลในอินเทอร์เน็ต

ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงในอาร์เจนตินาผ่านกระแสการประท้วงโดยการเผาตัวเองของผู้หญิงคนแล้วคนเล่า ทำให้เกิดความท้าทายต่อความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงและนิยามของความงามในระบบปิตาธิปไตยและเสรีนิยมใหม่ไปพร้อมๆ กัน

ขณะที่ ไมเคิล แซนเดล ในหนังสือ The Tyranny of Merit เสนอเรื่องเล่าของการครอบงำของลัทธิความคู่ควรหรือ meritocracy ในสหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร ที่ในช่วงสามทศวรษที่ผ่านมาของเสรีนิยมใหม่ พรรคการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและขวาต่างยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างอิสระ ส่งผลให้มีการศึกษาสาเหตุของความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่ง อันเกิดขึ้นจากความเข้มข้นขึ้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในมิติต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่นอกเหนือจากการคุกคามของความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่งแล้ว แซนเดล เชื่อว่าภัยคุกคามที่ลึกกว่านั้นต่อสังคมโดยรวมคือ การส่งเสริมความโอหังท่ามกลางผู้ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความอัปยศอดสูท่ามกลางความล้มเหลวของผู้พ่ายแพ้ เสมือนหนึ่งว่าเราต่างมีสมมติฐานทางวัฒนธรรมร่วมกันว่าความคู่ควรเป็นหนทางเดียวที่ดีที่สุดในการจัดระเบียบสังคม 

ในลัทธิคู่ควรนิยม ผู้ชนะเชื่อว่าพวกเขาได้รับทุกอย่างที่พวกเขามีด้วยตนเอง ดังนั้น พวกเขาจึงสมควรได้รับ ส่วนคนที่แพ้ หรือ ไม่ชนะ นั่นเป็นความผิดของพวกเขาที่ไม่ชนะ กล่าวคือ ทุกคนสมควรได้รับสิ่งที่ได้รับแบบที่เรียกว่า everyone deserves what they get องค์ประกอบที่ทำให้ระบบความคู่ควรดังกล่าวเป็นพิษ

คือ เมื่อมีความไม่เท่าเทียมกัน ลัทธิความคู่ควรจะทำให้ผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังขวัญเสีย การยึดติดกับปริญญาของวิทยาลัย ทำให้เกิดอคติต่อผู้ที่ไม่จบปริญญาหรือไม่มีวุฒิการศึกษา และยังทำให้การทำงานที่สุจริตถูกดูแคลนอีกด้วย

ความสำเร็จในแบบคู่ควรนิยม ก่อให้เกิดต้นทุนทางจิตวิทยาในหมู่วัยรุ่นก่อนเข้าอุดมศึกษา ไม่เพียงแต่ในหมู่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่เติบโตในสถานการณ์ที่แร้นแค้นแต่เกิดในหมู่เยาวชนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี ที่ดูจะประสบผลสำเร็จจากภายนอก แต่ไม่มีความสุข รู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึมเศร้า วิตกจริต และโกรธแค้น

พอ ๆ กับผู้ใหญ่วัยทำงานทั้งในกลุ่มผู้แพ้และผู้ชนะ สาเหตุเกี่ยวเนื่องกับแรงกดดันที่ไม่หยุดหย่อนให้ทำผลงานได้ดี ให้ประสบความสำเร็จของลัทธิคู่ควรนิยม  

ความเชื่อแบบคู่ควรนิยม และเน้นตลาดยังมีแนวคิดที่ว่างานบางงานนั้น "ดีกว่า" หรือ "แย่" กว่างานอื่นๆ สิ่งนี้ได้รับการเสริมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความแตกต่างระหว่างค่าตอบแทนของงานที่แตกต่างกันเหล่านี้ สำหรับคนที่ถูกทอดทิ้ง ไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาทำเงินได้น้อยลงเท่านั้น แต่พวกเขายังได้รับการบอกด้วยว่างานของพวกเขาไม่มีค่าพอให้สังคมนับถือเมื่อเทียบเคียงกับงานที่ทำเงินของคนที่ประสบความสำเร็จ

แซนเดล เสนอทางออกจากลัทธิคู่ควรนิยมว่า รัฐบาลควรกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่คำนึงถึงผู้ผลิตเท่าๆ กับผู้บริโภค การเน้นและให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้บริโภคในสังคมมากเกินไป ทำให้เราส่งการผลิตไปประเทศที่มีต้นทุนหรือค่าจ้างตํ่า เพื่อทำให้สินค้าของผู้บริโภคมีราคาถูกลง แต่ก็ต้องสูญเสียคุณภาพชีวิตและวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตไปด้วย

ทั้งยังเสนอ ให้ปฎิเสธแนวคิดที่มองประโยชน์ส่วนรวมแบบบริโภคนิยม แล้วเสนอให้หันมาใช้แนวคิดแบบพลเมืองนิยมแทน ทั้งนี้ อุดมคติของพลเมืองดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องของการหาผลรวมของรสนิยม หรือ การสร้างสวัสดิการผู้บริโภคสูงสุด แต่เป็นเรื่องของการครุ่นคิดอย่างวิพากษ์ถึงรสนิยมของพลเมือง การยกระดับและพัฒนารสนิยมเหล่านี้

การบรรลุสิ่งนี้ไม่อาจเกิดได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการอภิปรายถกเถียงกับเพื่อนพลเมืองว่า จะสร้างสังคมที่ดีงามได้อย่างไร เป็นการสร้างสังคมที่ปลูกฝังคุณธรรมความเป็นพลเมือง และเอื้อให้เราใช้เหตุผลร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายที่คู่ควรสำหรับชุมชนการเมืองของเรา

สังคมที่มุ่งความสำเร็จและลัทธิคู่ควรนิยม ที่มาพร้อมกับเสรีภาพที่ลวงตาแต่ล้นเกินในการผลิตเชิงดิจิทัลของยุคเสรี นิยมใหม่จึงเป็นปัญหาหลักของมนุษย์ในปัจจุบันที่นักปรัชญาร่วมสมัยทั้งคู่มีความเห็นที่ละม้ายคล้ายกัน

ขณะที่การกลับมาเกาะเกี่ยวกันของมนุษย์ในฐานะพลเมือง และ สังคม การข้ามผ่านมิติการบริโภคและบริโภคนิยม การแสวงหารสนิยม และสุนทรียศาสตร์ในรูปแบบอื่นที่ต่างออกไปจากที่เป็นอยู่ เป็นข้อเสนอสำหรับทางออกของปัญหาดังกล่าวของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21