เอเปคกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

16 พ.ย. 2565 | 04:55 น.

เอเปคกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,836 หน้า 5 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน 2565

ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC 2022 เรามาทำความรู้จักกับเอเปคและความสำคัญของเอเปคในเศรษฐกิจโลก รวมถึงพิจารณาบทบาทของเอเปคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยกันค่ะ

 

เอเปค หรือ ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระบบการค้าพหุภาคี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก ด้วยการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก

 

รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ในปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ รวมถึงเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง

 

 

เอเปคกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

เอเปคมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีประชากรรวมกว่า 2.9 พันล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) สูงถึงร้อยละ 62 ของโลก และมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 48 ของการค้าโลก

 

 

นอกจากนี้ เอเปคยังเป็นแหล่งลงทุนของร้อยละ 68 ของเงินลงทุนจากทั่วโลก และเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการออกไปลงทุนในต่างประเทศกว่าร้อยละ 86 ของการลงทุนทั่วโลก (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2565)

 

เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นที่เอเปคให้ความสำคัญ โดยในปี 2560 เอเปค มีการจัดทำแผนที่นำทางอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล (APEC Internet and Digital Economy Roadmap: AIDER) เพื่อเป็นกรอบแนวทางเกี่ยวกับด้านที่สำคัญ และการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี และนโยบายระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน และลดช่องว่างด้านดิจิทัล (Digital Divide) ระหว่างประเทศสมาชิก

 

โดยเน้นการทำงานใน 11 ด้านหลักคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกัน (Interoperability) การเข้าถึงเทคโนโลยีบรอดแบรนด์อย่างทั่วถึง การพัฒนากรอบนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลแบบองค์รวม การสนับสนุนให้มีความร่วมมือและพัฒนากฎระเบียบเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความสอดคล้องกัน

 

การสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและบริการ การยกระดับความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ การอำนวยความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลอย่างเสรีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยคำนึงถึงกฎระเบียบในแต่ละประเทศ

 

การพัฒนาตัวชี้วัดพื้นฐานสำหรับอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจ ดิจิทัล การส่งเสริมความเท่าเทียมด้านอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล และ การอำนวยความสะดวกด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัล (APEC 2021) ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

 

เขตเศรษฐกิจเอเปคเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจดิจิทัลโลก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรม เมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution: 4IR) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้

 

พบว่า ในปี 2562 ร้อยละ 80 ของ สินค้าส่งออกในกลุ่ม 4IR ทั่วโลกมาจากกลุ่มเอเปค และเอเปคมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวร้อยละ 63 ของการนำเข้าทั่วโลก

 

นอกจากนี้ บางเขตเศรษฐกิจในเอเปค อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา มีการคิดค้นและจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นแกน (Core Technology) ของ 4IR เช่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์  และระบบเชื่อมโยง (Connectivity) และกลุ่มเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้ในสินค้าสำหรับผู้บริโภคและสินค้าที่ใช้ในบ้าน โดยในช่วงปี 2553-2562 เอเปคมีสัดส่วนในสิทธิบัตรกลุ่มสินค้า 4IR สูงถึงร้อยละ 82 (APEC, 2022) 

 

การเป็นสมาชิกเอเปคจึงเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลของประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับสมาชิกในกลุ่มที่มีศักยภาพ เป็นโอกาสทางธุรกิจจากการเชื่อมโยงกับตลาดของประเทศสมาชิกเอเปคซึ่งทั้ง 20 เขตเศรษฐกิ จล้วนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย

 

และเป็นโอกาสในการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนให้ไทย สามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain: GVC) ที่มีประสิทธิภาพและเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง (Upgrading) ต่อไป เนื่องจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงกว่าจะมีโอกาสมีส่วนร่วมใน Innovative GVC มากกว่า 

 

นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพเอเปค ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะสามารถส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนา ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ และเป็นโอกาสให้ไทยแสดงความพร้อมในการพัฒนาด้านต่างๆ

 

โดยในส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ประเทศไทยมีการผลักดันเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชนใน 3 ด้านหลักคือ

 

(1) การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

 

(2) การหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงการชำระเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเปค (APEC Payment Connectivity)

 

(3) การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการส่งเสริมภาคธุรกิจในการระดมทุนผ่านตลาดทุน

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศ ไทยมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายด้านจากการเป็นสมาชิกเอเปค ในลำดับถัดไป ภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนควรใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป