‘สตาร์ตอัพ’เอเชียบูม ปี 59 ลงทุนฟินเทค 3.4 แสนล้าน

28 ม.ค. 2560 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2560 | 07:04 น.
การไหลเข้ามาของดิจิตอลเทคโนโลยี(Digitalization) และความเป็นภูมิภาค(Regionalization) ส่งผลต่อการระดมทุนเพื่อสนับสนุนฟินเทคสตาร์ตอัพในบริการทางการเงินของภูมิภาคเอเชีย ในปี 2559 มีมูลค่ากว่า 9,623 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือมากกว่า 3.41 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26%ของเงินลงทุนทั้งหมดในปีที่แล้ว ในจำนวนนี้เป็นเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาอยู่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้(เออีซี+3)มากที่สุดคือ จำนวน 9,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.24 แสนล้านบาท

นายพิพิธ อเนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจของนวัตกรรมการเงินการธนาคารผ่านโทรศัพท์ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนสามารถทำธุรกรรมที่หลากหลายทำให้ประชากรของแต่ละประเทศสามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตในวงกว้าง เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ฟินเทคสตาร์ตอัพเติบโต

จากสถิติ The Interactive Advertising Bureau ของสิงคโปร์ ระบุว่า ประชากร 1คนที่เข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ต เพิ่มขึ้นตลอด โดยไทยมากที่สุดในเออีซี คือ112% ตามมาด้วย สิงคโปร์ 106% มาเลเซีย 78% บรูไน 54% ฟิลิปปินส์ 48% อินโดนีเซีย 41% เวียดนาม 37% กัมพูชา 31%สปป.ลาว 22% และเมียนมา12%ขณะที่เฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 38%

ประเด็นที่น่าสนใจคือ จีน กลายเป็นประเทศที่มีบริษัทสร้างและพัฒนานวัตกรรมให้ประชากรใช้ในราคาถูกและขยายเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเออีซี ซึ่งสะท้อนยุคนี้จีนเป็นผู้นำเสนอนวัตกรรมของโลก มูลค่ามากกว่าบริษัทในสหรัฐฯกว่า 3 เท่า คือ จีนสร้าง 8 นวัตกรรมมูลค่า 9.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหรัฐอเมริกาสร้าง 14 นวัตกรรม แต่มูลค่า 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนบริษัทในยุโรปมีการสร้าง 4 นวัตกรรมมีมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดยังจับตาบริษัทในอินเดียว่าหลังจากนี้จะมีพัฒนาการสร้างนวัตกรรมมากน้อยเพียงใด

นายพิพิธ บอกว่า พฤติกรรมการตอบรับดิจิตอล เออีซี+3จะเป็นแม่เหล็กดึงการค้า การลงทุน คาดว่าภายในปี 2563 แนวโน้มกำลังจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคระดับกลางจะเพิ่มสูงเป็น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 กว่า 700%

สำหรับอุตสาหกรรมธนาคารซึ่งเป็นภาคสนับสนุน ต้องเปลี่ยนวิธีการคิดต้องฝังตัวเข้าไปในสิ่งแวดล้อมใหม่โดยเปลี่ยนรูปร่างให้มีความสามารถหมุนตัวได้เร็วและคล่องตัว แต่ยิ่งต้องแน่นหนาในการดูแลเงินฝากของประชาชนจึงต้องควบคุมความเร็ว

“แบงก์ถูกสร้างให้ระมัดระวังเรื่องความแม่นย่ำ ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนเชื่อมั่น เราจึงต้องเล่นในสิ่งที่เราเก่ง คนแบงก์ยังมีความหมายอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีคุณค่าสำหรับคนอื่น แต่โจทย์สำคัญ ถ้าเปลี่ยนMindsetเราจะเป็นดิจิตอลแชมเปี้ยน”

การเปลี่ยนแปลงเป็นดีเอ็นเอที่สำคัญในการจะอยู่ได้ อยู่รอดและอยู่อย่างผู้ชนะในอนาคต กลยุทธ์ใหม่ต้องใส่น้ำหนักดิจิตอลให้องค์กรมากขึ้นในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อพวกนี้จะเป็นพ่อมดเทคโนโลยีสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นความท้าทาย

2 ปัจจัยทั้ง Digitalization และ Regionalizationจะเป็นพลังเปลี่ยนธนาคารในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าและเศรษฐกิจโดยรวม ธนาคารจะมีแบรนด์สามารถนำไปใช้กับนวัตกรรมสร้างคุณค่าให้ลูกค้า และต้องพัฒนาต่อไปเป็น Stay ahead of again ซึ่งธนาคารกสิกรไทยปูพื้นสร้างคุณค่าให้ลูกค้าภายใต้ 3 ยุทธวิธีคือ การเข้าไปตั้งสาขาและสำนักงานตัวแทน การจับมือพันธมิตรภาครัฐเอกชนในต่างประเทศ และธนาคารด้วยกันเอง

“ผมไม่เชื่อฟินเทคกับแบงก์จะเป็นคู่แข่งกัน เพราะฟินเทคมีการต่อยอด ถ้าเขาไม่ปรับในระยะเวลาอันสั้นเขาก็ล้ม ตอนนี้ฟินเทคมีให้เลือกเต็มไปหมดขึ้นอยู่กับราคา ซึ่งเราจะสร้างพันธมิตรต่อยอดซึ่งกันและกัน ถ้าทำงานกับฟินเทครายไหนประสบความสำเร็จก็แชร์กัน ทำให้ฟินเทคอยากทำงานกับแบงก์มากขึ้น”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,230 วันที่ 26 - 28 มกราคม 2560