แบ่งโซนใช้พื้นที่พัทยาหนุนอีอีซี โฟกัสรับแหล่งเที่ยวแมนเมดเพียร์ 39 ศูนย์ประชุมใหม่

01 ก.ย. 2559 | 01:00 น.
คณะทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก วางแนวทางพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC เสนอครม.ล็อกโซนการใช้พื้นที่ สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวแมนเมดโฟกัสคืนพื้นที่บุกรุกบริเวณหาดพัทยาใต้ มาสร้างโครงการเพียร์ออน พัทยา คอนเซ็ปต์เดียวกับเพียร์ 39 ของซานฟราสซิสโก ดันพัทยาไมซ์ซิตี รับการสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ของสวนนงนุช พร้อมผลักดันสร้างรถไฟรางเบา เลียบชายหาด มูลค่า 8 พันล้านบาท เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง

[caption id="attachment_92455" align="aligncenter" width="700"] รถไฟรางเบาภายในเมืองพัทยา รถไฟรางเบาภายในเมืองพัทยา[/caption]

นายกลินท์ สารสิน คณะทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวภายในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor: EEC) ที่คณะทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 เป็นการลงลึกในรายละเอียดของโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ รวมถึงเมืองพัทยา หลังจากการรับฟังข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว

ทั้งนี้เรื่องหลัก ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยว จะเน้นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว การจัดโซนนิ่ง และการสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือแมนเมดทัวริซึม โดยจะมีการกำหนดพื้นที่การพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่จะแยกโซนหรือล็อกพื้นที่ไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดจะพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเอสเคิร์ฟ อย่าง อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และพื้นที่สำหรับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องที่ล็อกเอาไว้

รวมถึงเสนอให้ผลักดันโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟรางเบา (Tram)เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ที่จะเป็นรถไฟรางเบา วิ่งเชื่อมพัทยาเหนือ-พัทยาใต้ และมาต่อเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่วิ่งมาจากสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภาอีกทั้งยังเสนอเรื่องการปรับปรุงท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อให้เป็นครูซ เทอร์มินัล รองรับเรือสำราญจากต่างประเทศ ไม่ใช่ พัฒนาเป็นมาริน่า ยอชต์ คลับ เพื่อรองรับเรือยอชต์และสร้างเป็นคอมเมอร์เชียล พอร์ต เชื่อมการเดินทางจากปราณบุรีมายังพัทยา

นายกลินท์ ยังกล่าวอีกว่า ในแง่ของแหล่งท่องเที่ยวที่ มนุษย์สร้างขึ้น (แมนเมด) ได้เสนอที่จะส่งเสริมให้เมืองพัทยาเป็น "ไมซ์ซิตี" ให้มีความเข้มข้นมากกว่าเดิม โดยการสนับสนุนโครงการลงทุนใหม่ๆ ในพื้นที่ อย่าง โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางเมตร ซึ่งเป็นโครงการลงทุนของสวนนงนุช พัทยา ซึ่งจะขยายศักยภาพการรองรับผู้เข้าร่วมประชุมเพิ่มขึ้น เพิ่มเติมจากศูนย์ประชุมพีช ที่โรงแรม รอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ที่เปิดให้บริการอยู่แล้วด้วยขนาดพื้นที่ศูนย์ประชุมราว 2.6 หมื่นตารางเมตร

นอกจากนี้ยังได้นำเสนอการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ภายใต้ชื่อ "เพียร์ออน พัทยา" ซึ่งเป็นแนวคิดคล้ายๆ กับ "เพียร์ 39" แหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา คือมีทั้งคอมมิวนิตีมอลล์ เก๋ๆ กิจกรรมหรือจุดจูงใจให้คนเดินทางไปท่องเที่ยว โดยจะใช้พื้นที่บริเวณพัทยาใต้ ในส่วนของพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเรื่องของการบุกรุก มาพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งจะใช้วิธีเปิดสัมปทานให้เอกชนมาลงทุน

"ทั้งนี้โครงการลงทุนต่างๆที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลมีนโยบายเอกชนก็สนใจอยู่แล้ว ซึ่งรูปแบบการลงทุนมีหลายโมเดล อย่างการเปิดสัมปทาน หรือการทำโครงการPPP" นายกลินท์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากคณะทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เผยว่า แผนการก่อสร้างโครงการรถไฟรางเบา (Tram)ภายในพัทยา ผ่านถนนเลียบชายหาด และสาย 2 วนรอบเป็น Loop (เฟส1) ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร (ไม่รวมเส้นที่เชื่อมต่อไปยังรถไฟความเร็วสูง) คาดการณ์งบประมาณศึกษาและก่อสร้าง อยู่ที่ราว 8 พันล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เรียกร้องมานาน

เนื่องจากมองว่าการสร้างรถไฟรางเบาวิ่งบนพื้นราบ จะทำให้ช่วยลดปัญหาการจราจรภายในเมืองพัทยา ไม่ได้ต้องการรถไฟลอยยกระดับลอยฟ้า(โมโนเรล) เหมือนที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ต้องการผลักดันมาโดยตลอด เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมืองพัทยา มองว่าการใช้รถไฟรางเบา จะทำให้ไม่เสียทัศนียภาพ สะดวกในการรองรับผู้สูงอายุ คนพิการ รวมถึงสามารถวิ่งบนถนนเดิมได้

ขณะเดียวกันยังเสนอให้พิจารณาลำดับความสำคัญเรื่องของการปรับปรุงถนนหมายเลข331 ซึ่งขนานกับมอเตอร์เวย์ (สามารถเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง-สนามบินอู่ตะเภา –ท่าเรือจุกเสม็ด-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด)เร่งรัดการดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี2562 และให้ใช้ถนนเส้นนี้สำหรับอุตสาหกรรม (รถบรรทุก) ส่วนรถยนต์ทั่วไป ให้ใช้มอเตอร์เวย์ และถนนสุขุมวิท เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางรวมถึงเสนอเพิ่มเติมโครงการถนนเลียบชายฝั่งเฉลิมบูรพาชลทิต ระยะที่ 2 ช่วงระยอง-ชลบุรี ซึ่งระยะที่ 1 ดำเนินการเสร็จแล้วจากระยองไปจันทบุรี โครงการนี้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวชายฝั่งได้ดีมาก เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ที่อ่าวไข่ เลียบชายฝั่งมาตลอดถึงสนามบินอู่ตะเภา เป็นการเปิดชายหาดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่

รวมไปถึงเสนอให้ปรับสนามบินอู่ตะเภา เพื่อใช้เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบมีอุปกรณ์พร้อม เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ กำลังพลของตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ดิวตี้ฟี และยังเสนอข้อคิดว่าชาร์เตอร์ไฟลต์ (เช่าเหมาลำ) ส่วนใหญ่ยังมาที่กรุงเทพฯ เนื่องจากที่อู่ตะเภา จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จนต้นทุนจริงอาจสูงกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ และเสนอให้มีการจัดระบบขนส่งสาธารณะ เชื่อมโยงจากสนามบินไปยังพัทยา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถตู้ 2-3 ราย ส่วนการปรับปรุงท่าเรือจุกเสม็ด ให้เป็นครูซ เทอร์มินัล ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะท่าเรือนี้กินน้ำลึก 10 เมตร ขุดลึกอีกหน่อยให้กลายเป็นลึก 12 เมตร ก็จะรองรับเรือสำราญจากต่างประเทศได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดตลาดใหม่สำหรับการท่องเที่ยวของพัทยาเป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,188 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559