กว่างซีผุดโมเดลขนส่ง เรือ+รถ จบในตู้เดียว ร่นเวลากว่าครึ่ง ต้นทุนเท่าเดิม

18 เม.ย. 2567 | 17:10 น.

การขนส่งและโลจิสติกส์เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ "เขตกว่างซีจ้วง" กำลังมีบทบาทสำคัญในการเป็นฮับโลจิสติกส์ เชื่อมจีนส่วนที่ไม่มีทางออกทะเลกับต่างประเทศ อาศัยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่มีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ และชายแดนติดเวียดนาม

เมื่อเร็วๆนี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และมีชายแดนติดกับเวียดนาม ประสบความสำเร็จในการพัฒนา โมเดลขนส่งสินค้าต่อเนื่อง (Multi-modal Transportation) ระหว่าง “เรือ+รถ” ที่สามารถขนส่งสินค้าแบบครบจบในตู้เดียวตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ในเส้นทางท่าเรือดานัง (เวียดนาม) – กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว) – เมืองฉงจั่ว เป็นครั้งแรก

โดยแป้งมันสำปะหลังเวียดนามจำนวน 10 ตู้ ถูกจัดส่งออกจากท่าเรือดานังไปเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือชินโจวของเขตฯ กว่างซีจ้วง จากนั้นก็ลำเลียงตู้สินค้าดังกล่าวต่อด้วยรถบรรทุกไปที่เมืองฉงจั่ว นับเป็นครั้งแรกของการพัฒนาโมเดลขนส่งสินค้าต่อเนื่อง “เรือ+รถ” ระหว่างท่าเรือดานังกับเมืองฉงจั่ว

วิธีการดังกล่าวนับเป็นการพลิกโฉมโมเดลการขนส่งแบบเดิม ที่ใช้เรือสินค้าเทกอง (Bulk) จากท่าเรือดานัง ไปที่ท่าเรือตงกว่าน มณฑลกวางตุ้ง จากนั้นลำเลียงสินค้าใส่เรือเล็ก ล่องผ่านแม่น้ำซีเจียง เข้าไปยังท่าเรือแม่น้ำฉงจั่ว ก่อนจะกระจายสินค้าต่อด้วยรถบรรทุกไปยังโรงงาน ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาในการขนส่งมากถึง 20 วันแล้ว ยังมีข้อจำกัดด้านการขนส่งจากสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงน้ำแล้ง อีกทั้งต้องลำเลียงเปลี่ยนถ่ายพาหนะหลายรอบ ทำให้มีอัตราการสูญเสียค่อนข้างมาก

(แฟ้มภาพซินหัว)

นายหลิว ฝูหมิง หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท Guangxi Beibu Gulf International Lianyun Development ให้ข้อมูลว่า การขนส่งสินค้าต่อเนื่องแบบ “เรือ + รถ” ข้างต้นนี้ สามารถขนส่งแบบครบจบในตู้เดียว (ตู้สินค้าเดียวตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง) ใช้เวลาขนส่งเพียง 7 วัน สามารถประหยัดเวลาลงได้มากกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับการขนส่งแบบเดิมที่เป็นแบบ “เรือ + แม่น้ำ + รถ” ในแง่ของต้นทุนค่าขนส่งก็ไม่แตกต่างกับการขนส่งแบบเดิม โรงงานมีหลักประกันทางอุปทานของวัตถุดิบที่จะป้อนให้โรงงาน (ไม่ต้องลุ้นในช่วงฤดูน้ำแล้งที่ส่งผลต่อการขนส่งทางแม่น้ำแบบเดิม)

ขณะที่นายหลี่ ไท่หลิน ประธานบริษัท Guangxi Beibu Gulf International Lianyun Development เปิดเผยว่า ในอนาคต ทางบริษัทฯ กำลังกระชับความร่วมมือกับ China Railway Nanning Group เพื่อพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น และมีแผนพัฒนาโมเดลขนส่งต่อเนื่อง “เรือ + รถไฟ” ในเส้นทางท่าเรือดานัง – กลุ่มท่าเรือเป่ยปู้กว่างซี – เมืองฉงจั่ว ที่มีแรงแข่งขันทั้งด้านปริมาณ เวลา และต้นทุนรวม

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการไทยในการทำการค้ากับจีนตอนใน  โดยเฉพาะผู้ค้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลดิบ แป้งมันสำปะหลัง ธัญพืช(ข้าว ถั่วเหลือง) สินแร่ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดจีน โดยผู้ค้าสามารถเลือกจัดการขนส่งด้วยตู้สินค้า แทนการใช้เรือสินค้าเทกอง ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และช่วยลดอัตราการสูญเสียลงได้

กว่างซีผุดโมเดลขนส่ง เรือ+รถ จบในตู้เดียว ร่นเวลากว่าครึ่ง ต้นทุนเท่าเดิม

ที่ผ่านมา เขตฯ กว่างซีจ้วงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โดยเฉพาะโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความรวดเร็ว และลดต้นทุนของผู้ผลิตในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรม โดยอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ “คลองขนส่งผิงลู่” เชื่อมแม่น้ำกับทะเลด้วยระยะทาง 135 กิโลเมตร เป็นคลองขนส่งสำหรับเรือสินค้าที่วิ่งระหว่างอำเภอระดับเมืองเหิงโจว (Hengzhou City) ของนครหนานหนิง กับปากอ่าวที่ตั้งของท่าเรือเมืองชินโจว เริ่มขุดเมื่อปี 2565 และคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2570

ในอนาคต เมื่อคลองขนส่งผิงลู่เปิดใช้งานแล้ว ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ และวิ่งผ่านคลองขนส่งผิงลู่เข้าสู่นครหนานหนิง หรือหัวเมืองอื่นๆ ผ่านระบบงานขนส่งทางแม่น้ำซีเจียง หรือใช้ฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรของนครหนานหนิงในการเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีนได้เช่นกัน

กว่างซีผุดโมเดลขนส่ง เรือ+รถ จบในตู้เดียว ร่นเวลากว่าครึ่ง ต้นทุนเท่าเดิม

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง / สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง