ยูเอ็นเผยแก๊งมิจฉาชีพไซเบอร์ย้ายฐานปฏิบัติการมุ่งหน้า"เมียนมา"

27 ก.ย. 2566 | 06:58 น.

รายงานจาก UNODC ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ เผยว่า องค์กรอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่แพร่ระบาดอยู่ในเอเชีย ได้โยกฐานปฏิบัติการเข้าไปอยู่ในเมียนมามากขึ้น ลึกเข้าไปจากพื้นที่ชายแดนจีนและไทย นอกจากจะสร้างอุปสรรคในการกวาดล้าง ยังทำให้เหยื่อหลบหนีได้ยากขึ้นด้วย

 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานอ้างอิง สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ระบุว่า เครือข่ายองค์กรอาชญากรรม ที่ทรงอำนาจจากจีนและไต้หวัน ได้ใช้พื้นที่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และฟิลิปปินส์ เพื่อ ปฏิบัติการหลอกลวงคนผ่านทางอินเทอร์เน็ต จนสร้างความเสียหายไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ยังมีแนวโน้มย้ายฐานปฏิบัติการเข้าไปใน เมียนมา มากขึ้น 

รายงานระบุว่า แม้จะมีการปราบปรามในกัมพูชาและฟิลิปปินส์ไปบ้างแล้ว แต่อาชญากรที่หลงเหลือก็ยังคงหลอกลวงผู้คนอย่างแยบยลมากขึ้นภายใต้การคุ้มกันของกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา

ฐานปฏิบัติการของมิจฉาชีพเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในสองพื้นที่ของเมียนมา ได้แก่ เมียวดี ซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่อยู่ตรงข้าม อ.แม่สอด ประเทศไทย และอีกพื้นที่คือบริเวณชายแดนตะวันออกของเมียนมาในพื้นที่ปกครองพิเศษว้าและโกก้าง ซึ่งมีชายแดนติดกับมณฑลยูนนานของจีน

แผนที่ของ UNODC แสดงที่ตั้งของสถานคาสิโน ฐานปฏิบัติการที่ถูกกวาดล้างหรื่อถูกรายงานว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมทางไซเบอร์ (เป็นจุดสีแดงๆ) ในกัมพูชา ลาว และเมียนมา

เมียนมา เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ยึดครองพื้นที่ชายแดนสำคัญ ๆ และทำมาหากินกับเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม โดยกองกำลังในพื้นที่ชายแดนไทยและจีนตามที่ระบุในรายงาน ก็เป็นกองกำลังที่มีชื่อเสียงมายาวนานในฐานะผู้ค้ายาเสพติด สัตว์ป่าหายาก ค้ามนุษย์ รวมถึงเป็นเจ้าของคาสิโนในพื้นที่ปกครองของตนเอง

การแก้ไขต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

รายงานของ UNODC ระบุด้วยว่า องค์กรต่างชาติหลายแห่งเชื่อว่า มีผู้คนหลายหมื่นคนจากทั่วเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ถูกหลอกให้เดินทางเข้ามาทำงานกับแก๊งมิจฉาชีพตามจุดศูนย์รวมของสถานที่ปฏิบัติการเหล่านี้ โดยส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาสูงที่เข้าใจว่ามาทำงานถูกกฎหมายกับบริษัทเทคโนโลยีที่ให้ค่าจ้างสูง แต่สุดท้ายกลับพบว่า ต้องมาทำงานหลอกลวงผู้อื่น และ ที่สำคัญคือ พวกเขาต้องจ่ายค่าไถ่ตัวเองเป็นมูลค่าระหว่าง 3,000-6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1-2 แสนบาท) ซึ่งอาจจ่ายโดยครอบครัว สถานทูต หรือองค์กรเอ็นจีโอต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่ตั้งใจเดินทางมาทำงานหลอกลวง และยังชักชวนเพื่อนฝูงหรือครอบครัวมาร่วมทำงานด้วย โดยรายได้ของคนเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ทำงาน และบ่อยครั้งเป็นส่วนแบ่งจากการหลอกลวงเหยื่อ

ทั้งนี้ สำนักข่าววีโอเอได้ติดต่อรัฐบาลเมียนมาเพื่อขอความเห็น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ ได้เห็นชอบที่จะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งมิจฉาชีพ หรือแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ ที่เดิมทีมีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจคาสิโนในกัมพูชา ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นงานมิจฉาชีพในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยมักจะหลอกลวงให้คนนำเงินมาลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง หรือบ้างก็ใช้รูปแบบแกล้งสร้างสัมพันธ์ฉันชู้สาวแล้วหลอกให้เหยื่อโอนเงินมาให้ (romance scam) เป็นต้น

หลายชีวิตถูกหลอกลวงและต้องการความช่วยเหลือ 

เจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคของ UNODC ที่มีส่วนในการทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า กลุ่มองค์กรอาชญากรรมกำลังไปกระจุกตัวกันในพื้นที่ที่พวกเขาเห็นว่าเปราะบาง ข้อมูลจากรายงานชี้ว่า ฐานปฏิบัติการทั้งหลาย มักจะถูกติดตั้งลูกกรงเหล็กดัด และเฝ้าระวังโดยกลุ่มคนติดอาวุธ เพื่อไม่ให้พนักงานหลบหนีออกไปได้

ทางวีโอเอยังได้รับวิดีโอที่แสดงให้เห็นภาพคนไทยจำนวนหนึ่งถูกคุมตัวโดยกลุ่มคนติดอาวุธให้เดินรอบ ๆ พื้นที่ออกกำลังกายในขณะที่ถูกมัดมือ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำยอดขายจากการหลอกลวงคนได้ตามเป้าที่กำหนด

รายงานของยูเอ็นยังระบุด้วยว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่ทำงานให้กับแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ข้ามพรมแดนมาจากประเทศไทย ซึ่งเป็นทั้ง "ประเทศต้นทางและจุดผ่าน" สำหรับการลักลอบค้ามนุษย์ในอาชญากรรมนี้

UNODC ระบุว่า แม้มีเหยื่อหลายรายเข้าถึงการช่วยเหลือจากสถานทูตหรือภาคประชาสังคม จนนำไปสู่การไถ่ตัวออกมาได้ แต่ก็ยังมีฐานปฏิบัติการในพื้นที่ห่างไกลในรัฐฉาน ที่เหยื่อยังไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้

ที่มา : UNODC: Cyber Scam Bases Creep More Deeply into Myanmar