ข่าวดี HP ผุดแผน "ย้ายฐานผลิต" คอมพิวเตอร์-โน้ตบุ๊กมาไทย

20 ก.ค. 2566 | 07:16 น.

นิคเคอิ เอเชีย รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวว่า HP ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับสองของโลก มีแผนโยกย้ายการผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กบางส่วนจากจีนมายังประเทศไทยภายในปี 2566 และบางส่วนจะไปยังเม็กซิโก เพื่อกระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานไม่ให้พึ่งพาจีนมากเกินไป

 

บริษัทคอมพิวเตอร์ เอชพี (HP) มีแผน ย้ายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หลายล้านเครื่องมายัง ประเทศไทย ภายในปีนี้ (2566) และส่วนหนึ่งจะไปยังเม็กซิโก โดยขณะนี้บริษัทกำลังทำงานร่วมกับบริษัทซัพพลายเออร์หลายรายเพื่อสนับสนุนแผนการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว ถือเป็นการขยับตัวก้าวแรกของบริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่จากสหรัฐรายนี้ในการกระจายการพึ่งพา ห่วงโซ่อุปทาน ไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีน

สำนักข่าวนิคเคอิ เอเชีย รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวว่า เอชพี หรือที่เดิมรู้จักกันในนามบริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ท ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากเลโนโว (Lenovo) ของจีน กำลังมีแผนโยกย้ายการผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กสำหรับภาคธุรกิจบางส่วนไปยังเม็กซิโก และจะย้ายการผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กสำหรับบุคคลทั่วไปมายังประเทศไทย โดยทั้งหมดจะเกิดขึ้นในปีนี้ หลังจากนั้น บริษัทยังจะย้ายฐานการผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กบางส่วนไปยังประเทศเวียดนามภายในปีหน้า (2567) อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลกับสื่อนิคเคอิเอเชีย

เอชพี(HP)มีแผนย้ายฐานผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กบางส่วนจากจีนมายังไทยในปีนี้

ข้อมูลของบริษัทวิจัยคานาลิสชี้ว่า เมื่อปีที่ผ่านมา (2565) เอชพีมียอดขายคอมพิวเตอร์จำนวนรวม 55.2 ล้านเครื่องทั่วโลก

นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) เว็บไซต์ของเอชพียังมีแถลงการณ์ยืนยันว่า บริษัทกำลังจะขยายการผลิตไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น ๆ พร้อมกันนี้ยังระบุในอีเมลที่ส่งให้ผู้สื่อข่าวนิคเคอิเอเชียว่า เมืองฉงชิ่งของจีนซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานของเอชพี จะยังคงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทต่อไป

ปัจจุบัน ไทยและเวียดนามต่างเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์สำคัญของบริษัทชั้นนำหลายรายอยู่แล้ว ขณะที่โรงงานเม็กซิโกจะช่วยให้เอชพีสามารถรองรับตลาดในโซนอเมริกาเหนือได้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ไทยและเวียดนามต่างเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่สำคัญของบริษัทชั้นนำหลายราย

ก่อนหน้านี้ บริษัทเดลล์ (Dell) คู่แข่งของเอชพี ได้ประกาศแผนผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอย่างน้อย 20% ในโรงงานที่เวียดนามภายในปีนี้ ขณะที่บริษัทแอปเปิล (Apple) ก็เริ่มการผลิตคอมพิวเตอร์แม็คบุ๊ก (MacBook) จากโรงงานในเวียดนามแล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งเวียดนามถือเป็นประเทศแรกนอกเหนือจากจีน ที่ผลิตแม็คบุ๊กให้แอปเปิล

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การตัดสินใจของเอชพีในครั้งนี้จะช่วยให้ไทยและเวียดนาม สามารถสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานด้านคอมพิวเตอร์ของตนเองขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับที่จีนได้เคยทำไว้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และจะยิ่งทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นภูมิภาคที่ดึงดูดการลงทุนในด้านนี้มากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

ข่าวระบุว่า จำนวนการผลิตคอมพิวเตอร์นอกประเทศจีนของ HP ในปีนี้ จะอยู่ที่ 2 ถึง 5 ล้านหน่วย ซึ่งนับว่าน้อยหากเทียบกับข้อมูลจากแหล่งเดียวกันที่ระบุว่า HP มีการจัดส่งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรวม 55.2 ล้านเครืองทั่วโลกในปีที่ผ่านมา (2565)

ไทยมีความพร้อมด้านซัพพลายเออร์
สำหรับประเทศไทยนั้น นิคเคอิเอเชียระบุว่า ไทยมีชัพพลายเออร์คอมพิวเตอร์พีซีอยู่เล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงของ HP ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่การมีฐานผลิตในเม็กชิโก ก็จะช่วยให้บริษัทรองรับตลาดหลักในอเมริกาเหนือได้ดียิ่งขึ้น
HP กล่าวว่าแผนการที่ประกาศล่าสุดนี้ ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย-เวียดนาม) เป็นการขยายการดำเนินงานที่มีอยู่เดิมในภูมิภาคนี้ ส่วนที่เม็กซิโกเป็นการเพิ่มการผลิตโน้ตบุ๊กเพิ่มเติม พร้อมกล่าวว่า"จีนยังคงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของบริษัท"
ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของ HP ยังช่วยให้ไทยและเวียดนาม สร้างระบบนิเวศห่วงโชอุปทานสำหรับพีซี ทำให้เอเซียละวันออกเฉียงใต้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ที่มองหาตัวเลือกการผลิตนอกประเทศจีน ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ

HP ระบุว่า นอกจากความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ในการโยกย้ายการผลิตครั้งนี้ บริษัทยังพิจารณาปัจจัยอื่นๆ รวมถึง

  • ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน
  • รวมถึงความท้าทายในการสรรหาแรงงานและต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดย HP ถือเป็นผู้สนับสนุนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่งในประเทศจีนมายาวนานหลายทศวรรษ

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นตลาดพีซีที่ใหญ่ที่สุดสำหรับทั้ง HP และ Dell โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31% และ 40% ของยอดขายทั้งหมดตามลำดับในไตรมาสแรกของปีนี้ ในทางกลับกัน ตลาดจีนมีสัดส่วนยอดขายเพียง 7.5% และ 8% เท่านั้น

ข้อมูลอ้างอิง