ไทยเสียดุล "แพลตฟอร์มยักษ์" หมกเม็ด แจ้งรายได้ตํ่า จี้รัฐจูงใจเข้าระบบ

06 ธ.ค. 2566 | 06:00 น.

“ภาวุธ” กระทุ้งรัฐบาลจูงใจยักษ์แพลตฟอร์มข้ามชาติ บันทึกรายได้ตามธุรกรรมจริงที่เกิดขึ้นในไทย หลังพบคนไทยจ่ายค่าโฆษณาแพลตฟอร์มข้ามชาติ นับหมื่นล้าน แต่กลับแจ้งรายได้หลักร้อยล้าน ระบุไทยเสียดุลการค้าดิจิทัลปีละ 2 แสนล้าน

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในขณะที่รัฐบาล กำลังเชิญชวนต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มระดับโลก อย่าง Google TikTok มาลงทุนในไทยนั้นรัฐบาล ควรเจรจากับบริษัทเหล่านี้ที่มีการจดทะเบียน และทำธุรกิจในประเทศไทย ให้มีการบันทึกรายได้ตามรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ซึ่งจากการตรวจสอบรายได้จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้ มีการบันทึกรายได้ตํ่ากว่าเม็ดเงินรายได้จากค่าโฆษณาที่คนไทยจ่ายให้แพลตฟอร์มเหล่านี้

โดย TikTok จดทะเบียนในนาม บริษัท ติ๊กต๊อก เทคโนโลยีส์ จำกัด แจ้งรายได้ปี 2565 ที่ 786 ล้านบาท กำไร 46.9 ล้านบาท ขณะที่ Facebook จดทะเบียนในนาม บริษัท Facebook (Thailand) จำกัด แจ้งรายได้ปี 2565 ทั้งหมด 463 ล้านบาท มีกำไร 5 ล้านบาท ส่วน Google จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท Google (Thailand) จำกัด ปี 2565 มีรายได้ 1,336 ล้านบาท กำไร 59 ล้านบาท และ LINE ที่จดทะเบียนในนาม บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ปี 2565 มีรายได้ 6,396 ล้านบาท กำไร 268 ล้านบาท

ไทยเสียดุล \"แพลตฟอร์มยักษ์\" หมกเม็ด แจ้งรายได้ตํ่า จี้รัฐจูงใจเข้าระบบ

 ขณะที่ข้อมูลมูลค่าการใช้จ่ายในการโฆษณาดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2022 โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ร่วมมือกับคันทาร์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาด พบว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาดิจิทัล 25,729 ล้านบาท มีการจัดใช้ยักษ์แพลตฟอร์มข้ามชาติมากกว่าหมื่นล้านบาท โดย Meta (Facebook รวมกับ Instagram) ยังมียอดการใช้จ่ายเงินไปกับการโฆษณามากที่สุด อยู่ที่ 8,691 ล้านบาท คิดเป็น 32% ของยอดการใช้จ่าย ส่วน Youtube และ Google มียอดใช้จ่ายกับการโฆษณา 5,435 ล้านบาท, LINE มียอดใช้จ่ายกับการโฆษณา 1,633 ล้านบาท และ TikTok Ads ยอดใช้จ่ายกับการโฆษณา 840 ล้านบาท

นายภาวุธ กล่าวว่าสาเหตุที่ตัวเลขบันทึกรายได้ ชองบริษัทเหล่านี้ ไม่ตรงกับค่าใข้จ่ายโฆษณาดิจิทัล เพราะมีการรูดบัตรเครดิตจ่ายไปยังสำนักงานที่ สิงคโปร์ ที่บริษัทเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการจูงใจให้บริษัทเหล่านี้ มีการบันทึกรายได้จริงที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจในไทย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย และสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะทำให้ไทยสูญเสียดุลการค้าดิจิทัลเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประเมินจากการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสของกรมสรรพากร ที่คาดว่าจัดเก็บได้ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าคนไทยมียอดการใช้จ่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท

ส่วนการให้แพลตฟอร์มดิจิทัล จดแจ้งกับทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ตามกฎหมาย DPS (Digital Platform Service) หรือ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 นั้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการมากกว่า โดยเชื่อว่าเรื่องของรายได้แพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้ กรมสรรพากรน่าจะมีการจัดเก็บไว้หมด

ด้านนายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่าภายหลังจากที่พันกำหนดระยะเวลาการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ได้มีการประกอบธุรกิจ ก่อนวันที่ 21 กันยายน 2566 แล้วนั้น ทาง ETDA ได้รับความร่วมมือจากแพลตฟอร์มทั้งของไทยและต่างชาติ ที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดำเนินการเข้ามาแจ้งข้อมูลแล้ว ทั้งสิ้น 835 แพลตฟอร์ม ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่าง ETDA และแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดแนวทาง มาตรการในการดูแล ช่วยเหลือ แก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้งานจากผู้ใช้บริการ และนำไปสู่การยกระดับการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น มุ่งเน้นความน่าเชื่อและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน”

สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ ETDA จะแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ 1) การตรวจสอบรายชื่อแพลตฟอร์มทั่วไป ที่เข้าข่ายลักษณะตามกฎหมาย DPS มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ยังไม่ได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด โดยทาง ETDA จะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งให้แพลตฟอร์มดิจิทัล เร่งดำเนินการชี้แจงเหตุผลของการไม่ดำเนินการแจ้งข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนด ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในลำดับถัดไป

 2) วิเคราะห์ข้อมูลจากแพลตฟอร์มเพิ่มเติม เพื่อจัดกลุ่มธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลว่า แพลตฟอร์มใดบ้างที่เข้าข่ายแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ ตามมาตรา 18 (1) ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือ รวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือ จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 19 รวมถึงเพื่อพิจารณาดูว่า แพลตฟอร์มที่แจ้งข้อมูลใดบ้างที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยง ตามมาตรา 18 (2) และมีผลกระทบในระดับสูง ตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 20 ก่อนประกาศรายชื่อต่อไป

 3) เตรียมให้เครื่องหมาย Trust Mark สำหรับแพลตฟอร์มที่ได้มีการแจ้งข้อมูลมายัง ETDA แล้ว เพื่อสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

 ทั้งนี้ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการเริ่มให้บริการหลังวันที่ 21 สิงหาคม 2566 จะต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อ ETDA ก่อนเริ่มการประกอบธุรกิจ มิเช่นนั้น จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย