การถูกจู่โจมหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยสถิติจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ระบุว่าภัยคุกคามไซเบอร์ ปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.63) มีจำนวนทั้งหมด 1,626 ครั้ง ขณะที่ปี 2562 มีจำนวนทั้งหมด 2,470 ครั้ง ทำให้ธุรกิจประกันภัย มองเห็นช่องทางบริการประกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือความเสียหายที่เกิดจากการโจมตี หรือตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ โดยขณะนี้มีธุรกิจประกันภัยที่ได้รับความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย แล้ว 7 บริษัท
โดยแหล่งข่าวจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) กล่าวว่าเดิมองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ แต่การโจมตีทางไซเบอร์ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมามีความรุนแรง และสร้างความเสียหายมากขึ้น โดยมีการประเมินว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อปีมากกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญกับภัยไซเบอร์มากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดประกันภัยไซเบอร์มีการขยายตัว
ด้านนายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มภัยไซเบอร์มีเพิ่มขึ้น และเกี่ยวข้องกับคนในวงกว้าง ทั้งองค์กรธุรกิจ หน่วยงานรัฐ และคนทั่วไป โดยในองค์กรนั้นองค์กรใหญ่อาจมีระบบป้องกันที่ดี ที่น่าเป็นห่วงคือ องค์กรขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี เช่น กรณีโรงพยาบาลสระบุรี ที่โดนแรนซัมแวร์โจมตีเรียกค่าไถ่ ส่วนที่มีแนวโน้มตกเป็นเป้าหมายของอาชญกรไซเบอร์มากขึ้น คือ ผู้ใช้ทั่วไป เนื่องจากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภควันนี้มีการใช้งานมือถือเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีระบบป้องกัน
“ความต้องการประกันเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์มีเพิ่มขึ้น ซึ่งประกันภัยไซเบอร์ ของบริษัทนั้นได้รับกระแสการตอบรับดี โดยมีความหลายหลายของผลิตภัณฑ์ในการให้บริการครอบคลุมทั้งองค์กรขนาดใหญ่ถึงเล็ก ที่มีการคุ้มครองการบุกรุกระบบ การทำธุรกิจเกิดความเสียหายหรือหยุดชะงัก หรือ การเรียกค่าไถ่ นอกจากนี้ยังมีประกันสำหรับลูกค้าส่วนบุคคล ให้ความคุ้มครองการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือ ดีไวซ์ เช่น การคุ้มครองซื้อขายสินค้าออนไลน์”
นายสมพร กล่าวอีกว่า บริการประกันภัยไซเบอร์ เป็นหนึ่งในบริการทางดิจิทัลของ ทิพยประกันภัย ซึ่งถือเป็นผลิต ภัณฑ์ใหม่ ซึ่งบริษัทยังไม่ได้ประเมินเป้าหมายฐานลูกค้าไว้ อย่างไรก็ตามเป็นบริการอนาคต ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และได้รับกระแสการตอบรับดี
ด้านนายรัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอ็ม เอส ไอ จี และกสท โทรคมนาคม ต่างเล็งเห็นความสำคัญของภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น ระบบคอมพิวเตอร์โดนแฮกหรือเสียหายโดยโปรแกรมมัลแวร์/ไวรัส และการรั่วไหลหรือเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นความลับ รวมถึงการโดนก่อกวนจากหลายอุปกรณ์พร้อมๆ กันจนระบบปฏิบัติการออนไลน์ล่ม จึงร่วมกันพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยไซเบอร์ขึ้นมา กรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์จะเข้ามาบรรเทาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หลังจากผู้เอาประกันภัยโดนคุกคามหรือโจมตี นอกจากนี้ เอ็ม เอส ไอ จียังมีบริการให้คำปรึกษาวิธีรับมือจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้กับผู้เอาประกันภัยตลอด 24 ชั่วโมงทั่วโลก”
“กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยไซเบอร์ของเอ็ม เอส ไอ จี ถูกออกแบบมาเพื่อธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจเอสเอ็มอี ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีจุดเด่นคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากการโดนคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่อความเสียหายออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัย เช่น ค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการตรวจสอบหรือสอบสวนเหตุการณ์ ค่าใช้จ่ายในการกอบกู้ข้อมูล ค่าใช้จ่ายในการจัดจ้าง PR เพื่อแถลงความเสียหายหรือแจ้งแก่สาธารณะ ค่าใช้จ่ายในการไถ่ถอนระบบคอมพิวเตอร์จากการเรียกค่าไถ่ หรือแม้กระทั่งค่าปรับจากการถูกลงโทษโดยหน่วยงานที่กำกับดูแล และความเสียหายส่วนที่สองคือความเสียหายของผู้เอาประกันภัยต่อบุคคลภายนอก เช่น ค่าใช้จ่ายตามกฎหมายที่ผู้เอาประกันภัยต้องชดใช้ต่อบุคคลภายนอกและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี”
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยเสี่ยงภัยไซเบอร์จะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยสามารถกอบกู้และดำเนินธุรกิจต่อได้ ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถเลือกความคุ้มครองได้เองตามประเภทของธุรกิจ และจำนวนวงเงินจำกัดความรับผิดที่ต้องการ สำหรับเป้าหมายของโครงการประกันภัยความเสี่ยงภัยไซเบอร์ที่เอ็ม เอส ไอ จี ร่วมมือกับ CAT นี้ คาดว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการทำประกันภัยมากกว่า 2,000 ราย และเบี้ยมีประกันภัย 100 ล้านบาท