ปตท.ลุย CCU จ่อทุ่ม 3 พันล้าน ผลิตเมทานอลจาก CO2 โรงแยกก๊าซฯ

17 เม.ย. 2567 | 08:44 น.

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2583 (ค.ศ.2040) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต”

การจะไปสู่เป้าหมายตามที่กล่าวได้ แนวทางหนึ่งจะเป็นเรื่องของการนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์หรือ การใช้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization : CCU)

นายบูรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.ร่วมกับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ (Thyssenkrupp Uhde ) ของเยอรมนี อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบความเป็นไปได้ ในการรวบรวมนำคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากกระบวนการแยกก๊าซฯของโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้ง 6 หน่วย ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีความสามารถแยกก๊าซธรรมชาติสูงสุดรวมประมาณ 2,870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของ ปตท.นำมาผลิตเป็นเมทานอล

เบื้องต้นคาดว่ามีขนาดกำลังผลิตราว 100,000 ตันต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งโรงงานแห่งนี้คาดว่าจะตั้งอยู่หนองแฟบ ใกล้กับคลังก๊าซแอลเอ็นจีของปตท.เงินลงทุนราว 3,200 ล้านบาท

ปตท.ลุย CCU จ่อทุ่ม 3 พันล้าน ผลิตเมทานอลจาก CO2 โรงแยกก๊าซฯ

ปัจจุบันไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเมทานอล แต่มีความต้องการใช้เมทานอลเฉลี่ยปีละ 700,000 ตัน โดยการนำเข้าจากตะวันออกกลาง ซึ่งเมทานอลเป็นสารละลายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมี การก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก ผสมในนํ้ามันเชื้อเพลิง แอลพีจี รวมทั้งการนำมาใช้ผสมในนํ้ามันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยี แต่ในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเมทานอล จากคาร์บอนไดออกไซด์พบว่าสูงกว่าเมทานอลจากก๊าซธรรมชาติ โดยมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ต่ำกว่า 10% ขณะที่การตัดสินใจลงทุนโครงการของ ปตท.จะต้องมี IRR เฉลี่ย 14-15% ทำให้ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ ต้องหาแนวทางออกแบบในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้โครงการนี้มี IRR ที่สูงขึ้น

รวมทั้งต้องนำโครงการมาเปรียบเทียบต้นทุนการนำคาร์บอนฯไปใช้ประโยชน์ต่อ กับการนำไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียม (CCS) และการเสียภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ว่าแบบไหนมีความเหมาะสม คุ้มค่ากว่ากัน คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปีนี้

บูรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน)

“หากภาครัฐมีการเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคต รวมถึงการไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง ย่อมทำให้โครงการนี้มีความน่าสนใจลงทุนมากยิ่งขึ้น จนสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้”

ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมศูนย์วิจัย Carbon2Chem บริษัท ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ เมืองดุยส์เบิร์ก ประเทศเยอรมนี ได้พัฒนาต้นแบบการผลิตกรีนเมทานอลขนาด 75 ลิตรต่อวัน โดยนำคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตเหล็ก ผ่านการสังเคราะห์มาใช้ร่วมกับกรีนไฮโดรเจนที่ผ่านมาการแยกนํ้าด้วยเครื่องอิเล็กโตรไลเซอร์ ขนาด 2 เมกะวัตต์จากไฟฟ้าพลังงานลม มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเมทานอล โดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขนส่งทางเรือ และกำลังจะพัฒนานำไปใช้ผสมเป็นนํ้ามันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)

หากการดำเนินงานในโครงกานนี้สามารถเกิดขึ้นได้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ของปตท.ได้ และยังเพิ่มโอกาสการเติบโตในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตได้อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับบริษัท ธิสเซ่นครุปป์ (Thyssenkrupp ) เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ให้บริการด้านการวางแผน การก่อสร้าง และการให้บริการวิศวกรรมแก่โรงงานเคมีและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมากว่า 200 ปี มีพนักงานกว่า 100,000 คน มีบริษัทลูกตั้งอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในดัชนี MDAX ในปี 2566 มียอดขายรวม 37,500 ล้านยูโร

ดำเนิน 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยียานยนต์ (Auto motive Technology), ด้านการบริการด้านวัสดุ (Materials Services), ด้านเทคโนโลยีลดคาร์บอน (Decarbon Technologies), ด้านระบบยุทธนาวี (Marine Systems) และด้านเหล็กยุโรป (Steel Europ) เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญด้าน R&D มีศูนย์วิจัยกว่า 75 แห่งทั่วโลกโดยได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์สภาพอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Transformation) ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

บริษัท ธิสเซ่นครุปป์ ตั้งเป้าหมายจากการใช้เทคโนโลยีในการนำคาร์บอนออกไซด์จากโรงถลุงเหล็กมาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแอมโมเนีย เมทานอล จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 30% ภายในปี 2573 เป็นการสนับสนุนให้เยอรมนีบรรลุป้าหมาย Net Zero 4kp.oxu 2593 ได้