EGCO Group ลุยต่างประเทศ ทุ่ม 3 หมื่นล. หนุนพลังงานสะอาดเข้าพอร์ต 30% ปี 73

24 ก.พ. 2567 | 10:01 น.

EGCO Group ทุ่มอีก 3 หมื่นล้าน ปี 2567 เดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าพอร์ต 1,000 เมกะวัตต์ ทั้งในและต่างประเทศ ให้น้ำหนักลงทุนพลังงานสะอาด ทั้งไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ลุยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอินโดนีเซียสดใส ขยายโอกาสทางธุรกิจ

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยทิศทาง “Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth” โดยมีเป้าหมายบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050

ภายใต้การขับเคลื่อนที่จะไม่เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่จะมุ่งขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ภายในปีค.ศ. 2030 รวมถึงส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว (Green Energy)

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2567 นี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดสรรเงินลงทุนไว้ราว 30,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจตามกลยุทธ์ที่วางไว้ในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมุ่งเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากปัจจุบันมีกำลังผลิตแล้วราว 1,440 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 21% จากกำลังผลิตทั้งหมด 6,996 เมกะวัตต์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาและปิดดีลของแต่ละโครงการด้วย

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group

สำหรับการขยายงานในปีนี้ จะเน้นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย หลังจากที่ EGCO Group ได้เข้าไปซื้อหุ้น 30% ในบริษัท พีที จันทรา ดายา อินเวสตาสิ (CDI) บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ในเครือบริษัท พีที จันทรา อศรี แปซิฟิก ทีบีเค (CAP) ผู้นำในธุรกิจเคมีและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่าการลงทุน 194 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,800 ล้านบาท เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้ EGCO Group ร่วมเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่มีศักยภาพในประเทศอินโดนีเซีย

ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 147 เมกะวัตต์ โรงงานผลิตและบำบัดนํ้า รวมทั้งท่าเทียบเรือและคลังเก็บผลิตภัณฑ์เคมี ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งเข้ามาแข่งขันได้ยาก เพราะข้อจำกัดด้านใบอนุญาตและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่สูง

จากนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่จะมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่า โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในปี 2573 ขึ้นไปที่ 25% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ส่งผลให้การพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวยังมีศักยภาพอีกมาก โดยเฉพาะการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 200 เมกะวัตต์ รวมถึงการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์ลอยนํ้า กำลังผลิตรวม 80 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเหล็กที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง

EGCO Group ลุยต่างประเทศ ทุ่ม 3 หมื่นล. หนุนพลังงานสะอาดเข้าพอร์ต 30% ปี 73

นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะต้องเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ในไต้หวัน ที่ถือหุ้นอยู่ 26.56% ให้ครบทั้ง 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 จากปัจจุบันติดตั้งเสากังหัน (Monopile) ไปแล้ว 45 ต้น ในจำนวนนี้ได้ติดตั้งใบพัดกังหันแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไปแล้ว 33 ต้น กำลังผลิตไฟฟ้า 264 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการค่อนข้างดีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า (capacity factor) สูงสุดถึง 80% ในฤดูมรสุม และมี capacity factor เฉลี่ยมากกว่า 40%

รวมถึงการเร่งพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนภายใต้บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่ EGCO Group ถือหุ้นอยู่ 17.46% ซึ่งปีนี้มีแผนจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้ได้ 1,106 เมกะวัตต์ จากโครงการที่มีอยู่ในไปป์ไลน์รวม 238 โครงการ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และแบตเตอรี่ รวมกำลังผลิต 60,543 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน APEX อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 7 โครงการ รวมกำลังผลิต 1,035 เมกะวัตต์ จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2567-2568 และมีโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ ซึ่งการดำเนินงานของ APEX จะเป็นทั้งในลักษณะไฮบริด คือ ขายโครงการออกไปบางส่วน และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์สำหรับโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้วเองบางส่วน ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาจองโครงการพลังงานหมุนเวียนของ APEX เป็นจำนวนมาก และ EGCO Group ก็พิจารณาโอกาสที่จะเข้าไปซื้อโรงไฟฟ้าดังกล่าวเข้ามาอยู่ในพอร์ตด้วย

ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรดไอแลนด์ สเตท เอ็นเนอร์ยี่ เซ็นเตอร์ แอลพี (RISEC) กำลังผลิต 609 เมกะวัตต์ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง EGCO Group ถือหุ้นอยู่ 49% ถือเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และรองรับไฟฟ้าสีเขียวของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม เช่น แบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงาน หรือการใช้ไฮโดรเจนผสมร่วมกับเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่เดิม เป็นต้น

เช่นเดียวกับกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง EGCO Group ถือหุ้นอยู่ 50% อยู่ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ที่ยังมีโอกาสลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการใช้ไฮโดรเจนหรือเชื้อเพลิงคาร์บอนตํ่าเป็นทางเลือกผลิตไฟฟ้า

นอกจากนั้น ล่าสุดโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย จังหวัดระยอง ซึ่ง EGCO Group ถือหุ้น 80% ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สามารถลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยลง 15% จากที่ใช้ในโรงไฟฟ้าเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว จะนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) 10% ในปี 2573 และขยับสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2583 ตลอดจนบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593