การอุดหนุน-ตรึงราคาน้ำมัน ส่งผลให้ใช้พลังงานสิ้นเปลือง

16 ก.พ. 2567 | 09:19 น.

ทราบกันหรือไม่ว่า ประเทศไทยติดกับดักการควบคุมราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว โดยใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตและกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุน แต่ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างราคานํ้ามันซึ่งเป็นวิธีที่ถาวรและยั่งยืน

คอลัมน์ Circular Economy ชีวิตดีเริ่มที่เรา

โดย กรีนเดย์

ที่ผ่านมาฐานะกองทุนนํ้ามันติดลบ ต้องกู้เงินมาราว 105,333 ล้านบาท เพื่อมาใช้หนี้เก่าจนจะหมดหนี้แล้ว แต่การตรึงราคานํ้ามันในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ส่งผลให้กองทุนนํ้ามันฯ กลับเริ่มมาติดหนี้ใหม่เพิ่มมากขึ้นอีกกว่า 80,000 ล้านบาท

การตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกดังกล่าว เข้าไปอุดหนุนให้ราคาตํ่ากว่าต้นทุนที่แท้จริง หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง ถือเป็นการส่งเสริมให้ผู้ใช้พลังงานไม่รู้จักประหยัด หรือใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ประเทศต้องสูญเสียเงินเป็นแสน ๆ ล้านบาท จากการนำเข้านํ้ามันดิบจากต่างประเทศมากลั่นเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

มีดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของประเทศ ว่าแต่ละประเทศมีการใช้พลังงานก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามหลักสากลจึงมักจะเปรียบเทียบระหว่างตัวเลขสองตัวคือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ที่โตขึ้นในแต่ละปี แต่ละหน่วยเปอร์เซ็นต์ของ GDP ที่โตขึ้นในแต่ละปี มีการใช้พลังงานเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา มากขึ้นหรือน้อยลง ทางวิชาการจะเรียกว่าความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (Energy Intensity : EI) ในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ความเข้มข้นที่น้อยลงเชิงเปรียบเทียบ ก็จะสะท้อน “ประสิทธิภาพ” การใช้พลังงานที่ดีขึ้น

จากสถิติของไทยในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา (2553 - 2565) โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาพรวมกับการใช้นํ้ามันดีเซล พบว่า สัดส่วนการใช้นํ้ามันดีเซลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า เมื่อเทียบกับสัดส่วนการใช้พลังงานในภาพรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม

การอุดหนุน-ตรึงราคาน้ำมัน ส่งผลให้ใช้พลังงานสิ้นเปลือง

ยกตัวอย่าง ถ้าปรับค่าดัชนีความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (EI Index) ในปี 2553 เท่ากับ 100 แต่เมื่อถึงปี 2565 พบว่า EI Index ของการใช้พลังงานรวมของประเทศปรับตัวลดเหลือ 88 แสดงว่าการใช้พลังงานในภาพรวมมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 12% ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ในทางตรงข้าม EI Index ของดีเซลได้ปรับสูงขึ้นจาก 100 ในปี 2553 เป็น 187 ในปี 2565 แสดงว่าการใช้ดีเซลไม่มีประสิทธิภาพ ปรับตัวสูงขึ้นถึง 87 % ในช่วงเดียวกัน ซึ่งแสดงว่าการใช้ดีเซลของไทยที่ได้รับการอุดหนุนไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การใช้ดีเซลเพิ่มขึ้นมากจาก 30 ล้านลิตรต่อวันมาเป็น 73 ล้านลิตรต่อวัน

ในทางตรงกันข้าม หากไม่มีการอุดหนุนราคาดีเซล ปล่อยให้ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุน ที่แท้จริง พร้อมกับมีการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง จนทำให้ EI Index คงที่ให้เท่ากับปี 2553 ซึ่งจะส่งผลให้การใช้นํ้ามันดีเซลเพิ่มจาก 30 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นมาเพียง 39 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น เท่ากับว่าในช่วงปี 2553-2565 จะประหยัดการใช้ดีเซลไปได้ 20-34 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็น 7,300-12,410 ล้านลิตรต่อปี หรือเทียบเท่ากับเงินที่สูญเสียไปถึง 220,000-372,000 ล้านบาทต่อปี

หากคิดการสูญเสียจากการใช้ดีเซลเกินกว่าที่ควรจะเป็นในช่วง 13 ปี ( 2553 - 2565) คิดเป็นเงินถึง 3.365 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว ถือเป็นความสูญเสียที่ไม่ประหยัด จากนโยบายการตรึงราคานํ้ามันดีเซล

อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่แตกต่างกันว่า การตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เป็นการช่วยประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋า ช่วยไม่ให้ค่าขนส่ง เงินเฟ้อ และราคาสินค้าไม่ปรับสูงขึ้น ซึ่งเมื่อหักลบแล้วอะไรดีกว่ากัน มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างไร เรื่องนี้อาจจะต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป แต่อย่าลืมว่าประเทศต้องนำนํ้ามันดิบเข้ามากลั่น และใช้แล้วหมดไป หากช่วยกันประหยัดได้ จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศได้