ประธานบอร์ด กยท. ถกประเด็น "โหนกระแส ยางพารา ไปต่อหรือพอแค่นี้"

22 เม.ย. 2567 | 07:02 น.

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเวทีถกประเด็นร้อน “โหนกระแส ยางพารา ไปต่อหรือพอแค่นี้” โดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด กยท. ภายในงานวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2567 จ.ตรัง เน้นย้ำทิศทางและแนวทางการบริหารยางพาราทั้งระบบ มุ่งผลักดันราคาสินค้ายางพาราให้สูงขึ้น โดยไม่แทรกแซงราคา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในอาชีพแก่ชาวสวนยาง ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

ดร.เพิก เลิศวังพง กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด กยท. ซึ่งได้ไฟเขียวจาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำงานเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเต็มที่ ตนเองได้เดินหน้าทุกรูปแบบ ทั้งบูรณาการความร่วมมือจากทั้ง ภาครัฐ เอกชน สถาบันเกษตรกรและเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อขับเคลื่อนยางพาราทั้งห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน ซึ่งรวมทั้งการลุยซื้อยางเก็บในช่วงที่ราคายางตกต่ำ เพื่อเอาไว้สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ และเตรียมผลิตยางล้อรถยนต์ในแบรนด์ของ กยท. ตั้งเป้าจะซื้อยางให้ได้ปีละ 4 แสนตัน 

ซึ่งถือเป็นการดึงยางออกจากระบบจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นได้ ตลอดจนผลักดันยางพาราให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR เพื่อสร้างความน่าเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงการได้เดินทางไปพบปะเจรจากับมาเลเซียและจีน เพื่อเจรจาค้าขายยางพารา พร้อมประกาศไทยจะเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลกในอนาคต

 

นอกจากนี้ยังมีการเดินหน้าปรามปรามสินค้าเกษตรกรผิดกฏหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยได้เดินทางเจรจาขอความร่วมมือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนในประเทศแหล่งต้นทางต่างๆ ตลอดจนมีนโนบายการลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดย กยท.จะขายปัจจัยการผลิตเองในแบรนด์ของ กยท. เช่น กรดฟอร์มิก ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ การงัดกลยุทธที่ทำทุกรูปแบบดังกล่าว เป็นผลทำให้ราคายางสูงขึ้นตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา โดยยางแผ่นรมควันสูงถึง 94 บาท/กก. และ น้ำยางสดที่ 84 บาท/กก.

ทั้งนี้ ตนได้ทำตามที่ตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า จะแก้ปัญหาโดยไม่ใช้วิธีการแทรกแซงราคายาง และจะไม่ทำนโยบายชดเชยราคา ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำได้จริง  โดยตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้นนั้นพบว่า เงินกลับสู่เกษตรกรแล้วกว่า 54,000 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้มีการแทรกแซงราคา นอกจากนี้ ยังกำชับว่าหากมีการปล่อยมือไม่ทำงานอย่างเข้มแข็งก็จะถูกฝ่ายตรงข้ามกับเกษตรกรกดราคาให้ลดต่ำลง แต่ทางตนเองและคณะทำงานจะสู้อย่างเต็มที่ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางให้ดีที่สุด เชื่อมั่นว่าปลายปีนี้ราคายางจะขึ้นไปถึงเลข 3 หลักได้ 

ในช่วงท้ายของเวทีถกประเด็น ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้ถามคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมีประเด็นร้องขอก่อสร้างโรงงานน้ำยางข้น ด้านประธานบอร์ด กยท. ระบุ สามารถทำได้ ขอให้หาพื้นที่ให้ได้ประมาณ 50 ไร่ และเขียนโครงการเสนอเข้ามาทางบอร์ดพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ สร้างความดีใจให้แก่ตัวแทนสถาบันเกษตรกร และชาวสวนยางที่ไปติดตามรับฟังเป็นอย่างมาก