วิเคราะห์รายกระทรวง ปรับ ครม.รัฐบาลเศรษฐา ได้หรือเสีย

01 พ.ค. 2567 | 02:24 น.

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล วิเคราะห์การปรับ ครม. รัฐบาลเศรษฐารายกระทรวง ฟันเปรี้ยงพท.ทิ้งเกษตรกร ปรับตามสไตล์นายใหญ่ เน้นบริหารอำนาจภายในพรรค ติงมีรัฐมันตรีนั่งทำเนียบมากเกินไป ห่างไกลประชาชน

จากกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ครั้งนี้ นำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายประการเช่นความเหมาะสม ของงานกับตัวบุคคล หรือการทิ้งตำแหน่งรัฐมนตรีของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร หลังจากถูกริบเก้าอี้รองนายกฯไปให้แก่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และยังมีการยื่นร้องเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีบางรายไปยัง องค์กรอิสระต่างๆอีกด้วย

ฐานเศรษฐกิจ ชวนรศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย วิเคราะห์การปรับทัพครั้งนี้ โดยอ.ธนพร มองว่าเมื่อพิจารณาจากรายชื่อครม.ชุดใหม่ที่ออกมา ยังไม่สามารถบอกได้ว่าประชาชนจะได้อะไรจากการปรับครม.ในครั้งนี้ แต่ประเด็นที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับพรรคเพื่อไทยคือ การที่ยอมสละเก้าอี้ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด เรียกได้ว่าพรรคเพื่อไทยทิ้งเกษตรกร เป็นความเสียหายอย่างประเมินมูลค่าไม่ได้ 

ซึ่งการปรับครม. ครั้งนี้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของนายใหญ่ หรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นเจ้าของพรรคตัวจริง และตามสไตล์นายใหญ่จะมีการปรับครม.ทุก 6 เดือนอยู่แล้ว โดยมุ่งเน้นการบริหารอำนาจในพรรคเพื่อไทยที่มีความจำเป็น การปรับครั้งนี้มองข้ามเรื่องประสิทธิภาพการทำงานได้เลย 

นายเศรษฐา ทวีสิน เข้ารดน้ำนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องในวันสงกรานต์ 2567

อ.ธนพร กล่าวถึงเหตุผลที่มองว่าประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับ ครม.ครั้งนี้เพราะว่า มองถึงประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินตำแหน่งที่แต่ละบุคคลได้รับ ไม่ได้หมายความว่ารัฐมนตรีไม่มีความสามารถ เริ่มต้นจากการมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน ทั้งที่ในทำเนียบรัฐบาลมีนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว 1 คน รองนายกฯอีก 6คน 

เมื่อเพิ่มรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯอีก 3คน ทำให้ในทำเนียบมีรัฐมนตรีนั่งถึง 10 คน คิดเป็นเกือบ 1ใน3 ของครม.ทั้งคณะ โดยที่ภารกิจในทำเนียบรัฐบาลไม่ได้สัมผัสกับประชาชนโดยตรง ถือเป็นการใช้ทรัพยากรมากเกินไปหรือไม่ มิหนำซ้ำรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯบางคนยังเป็นสายล่อฟ้าอีกด้วย  จึงมองไม่เห็นประโยชน์และความจำเป็นในข้อนี้

สำหรับตำแหน่งของคุณปานปรีย์ ที่นำเก้าอี้รองนายกฯไปให้กับนายสุริยะนั้น ทำให้คุณปานปรีย์รู้สึกว่าผลงานของตนเองมีมากกว่านายสุริยะ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยนี้ ไม่ใช่พิธีการทางการทูตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของมิติความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจด้วย 

ซึ่งหากนั่งเก้าอี้รมว.ต่างประเทศเพียงตำแหน่งเดียว จะมีผลต่อการสั่งการไปยังกระทรวงอื่นๆว่าไม่สามารถทำได้ ตรงนี้จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีเก้าอี้รองนายกฯควบด้วย เช่นเดียวกันกับสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคุณดอน ปรมัตถ์วินัยก็บริหารในลักษณะเช่นนี้ ตามโครงสร้างของระบบราชการที่มักมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในกรรมการต่างๆ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ว่างก็จะมอบหมายให้กับรองนายกรัฐมนตรีแทน

ซึ่งเรื่องนี้หากถามรองนายกฯภูมิธรรม เวชยชัย จะทราบดีว่าเมื่อครั้งเดินทางไปต่างประเทศ ในภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ หากไม่มีหมวกรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลกระทรวงเกษตรอยู่ด้วย จะกล้ามีข้อตกลงกับประเทศต่างๆหรือไม่ 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ลาออกจากการเป็นรมว.ต่างประเทศ

เมื่อให้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่นำเก้าอี้รองนายกฯ ไปให้แก่นายสุริยะ อ.ธนพร กล่าวเปรียบเทียบว่า นายปานปรีย์เป็นคนทำงาน มีสภาพเหมือนเจ้าหน้าที่ของพรรค ในขณะที่นายสุริยะเปรียบเหมือนผู้ร่วมทุนกับพรรค เข้าตำราคนจ่ายตัง เสียงดังเสมอ

สำหรับกรณีของนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นสิ่งที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือแฟนคลับพรรคย่อมตั้งคำถามกับพรรค เพราะคุณหมอชลน่านถือว่าปักหลักกับพรรคมาตั้งแต่ปี 2554 ไม่เคยออกไปพรรคไหน เมื่อได้รับรางวัลตอบแทนเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามขึ้นได้ ทั้งยังส่งผลในอนาคตต่อคนรุ่นใหม่ที่ประสงค์จะทำงานการเมืองก็อาจมองว่าหากเลือกสังกัดพรรคเพื่อไทยแล้วจะสามารถมีอนาคตในเส้นทางการเมืองได้แค่ไหน อย่างไร ย่อมกระทบต่อความนิยมของพรรคด้วย

วิเคราะห์รายกระทรวง ปรับ ครม.รัฐบาลเศรษฐา ได้หรือเสีย

ในขณะเดียวกันการคัดเลือกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเกิดความเสียหาย จากการที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่าให้สัมภาษณ์ว่าส่ง 4 รายชื่อ ให้นายกฯเลือก นั่นหมายความว่าอนุญาตให้คนนอกพรรคมีสิทธิ์เลือกรัฐมนตรีที่เป็นโควตาของพรรคตนเอง เท่ากับว่าอำนาจการตัดสินใจของพรรคพลังประชารัฐตกอยู่กับพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว

ทางด้านของพรรครวมไทยสร้างชาติเมื่อเทียบระหว่างตำแหน่งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์การเกษตร กับรมช.พาณิชย์ จะเห็นได้ว่า ในระนาบของรัฐมนตรีช่วย หากสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะสามารถขับเคลื่อนงานได้มากกว่า เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงเล็ก รมว.การมักจะดูแลกรมสำคัญด้วยตัวเอง เช่นกรมการค้าภายใน ,กรมส่งเสริมการส่งออก 

ส่วนกรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็เป็นของโควตาพรรคภูมิใจไทย เมื่อนายสุชาติ ชมกลิ่นเข้าไปก็เหลือกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ดูแล ซึ่งถือเป็นงานทางด้านวิชาการ จึงเป็นเรื่องยากที่จะปั้นผลงานให้ประจักษ์ หรือหากได้ไปดูแลกรมการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเนื้องานจะเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ และธุรกิจต่างด้าว จึงเป็นการยากที่จะสร้างคะแนนนิยมให้เกิดในประชาชน

วิเคราะห์รายกระทรวง ปรับ ครม.รัฐบาลเศรษฐา ได้หรือเสีย

สำหรับกระทรวงการคลังนั้น แม้จะได้รัฐมนตรีว่าการคนใหม่แต่ต้องยอมรับว่าประชาชนไม่ได้ให้ความสนใจกับตัวบุคคล แต่สนใจเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยมากกว่า นั่นคือโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าจะสามารถแจกได้กี่โมง หากวันนี้ยังไม่สามารถระบุวันเริ่มต้นโครงการได้อย่างชัดเจน ก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ยังมีงานที่ต้องขับเคลื่อนให้เห็นผลเชิงประจักษ์อีกหลายงานเช่น งานกวาดล้างการทุจริตของกรมศุลกากร ตั้งแต่กรณีหมูเถื่อน ปลาเถื่อน , การออกมาตรการทางภาษีใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งต้องแสดงให้เห็นว่าการที่กระทรวงการคลัง มีรัฐมนตรีว่าการ 1คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการมากถึง 3คน ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง