iLaw เปิดศึก วิทยานิพนธ์ป.เอก สว. “สมชาย แสวงการ”

20 เม.ย. 2567 | 09:00 น.

การเปิดศึกครั้งของ iLaw องค์กรผู้นำด้านสิทธิเสรีภาพ โดยการตั้งคำถามต่อความถูกต้องของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ "สมชาย แสวงการ" แกนนำพรรคการเมืองชั้นนำ ฝั่ง สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ

iLaw เปิดหลักฐานเกี่ยวกับเส้นทางการเรียนปริญญาเอกของ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โดยระบุว่า การเรียนปริญญาเอกของ สว.สมชาย พบว่า ดุษฎีนิพนธ์ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร

โดยยกตัวอย่างว่า มีข้อความหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่น ๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน ซึ่งที่เด่นชัดที่สุดคือ หนังสือของ สถาบันพระปกเกล้า “รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี 2558 ซึ่งดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า 30 หน้า ทั้งยังพบว่าบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมด

นอกจากนี้ยังระบุว่า สว.สมชาย ลอกงานของ iLaw  ชี้ว่า ดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีการอ้างถึงงานของ iLaw เป็นบทความ "รวมข้อมูล 250 สว. แต่งตั้ง : กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช." ซึ่งมีการอ้างถึงสถิติของ สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกคำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่ เพียงแต่มีการตัดรายชื่อของ สว. เท่านั้น 

iLaw VS สมชาย สงครามวิทยานิพนธ์

สว.สมชาย แสวงการ ยืนยันว่า การคัดลอกข้อมูลมาเขียนดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกตามที่มีการออกมาแฉนั้น ไม่เป็นความจริง โดยอธิบายว่า ทำวิจัยดุษฎีนิพนธ์นี้เอง กรณี การได้มาซึ่ง สว. ได้ศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยความสนใจเรื่องนี้ตั้งเเต่เรียนกฎหมายมหาชนถึงศึกษาปริญญาเอก 

ยืนยันว่าดุษฎีนิพนธ์นี้ มีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง สสร.เก่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 และ 2560 , อดีต สส.และ สว.ทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง, สัมภาษณ์ Focus Group นักวิชาการและประชาชน รวมถึงการออกแบบสอบถามแก่ประชาชนหลายร้อยคน เพื่อนำรัฐธรรมนูญ 2560 มาวิเคราะห์ร่วมกับฉบับที่ผ่านมาและบทความต่างประเทศ 

แต่ที่เป็นความผิดพลาดเล็กน้อยซึ่งได้แก้ไขแล้ว คือการตกหล่นเชิงอรรถและบรรณานุกรม การอ้างอิงที่มาในบททบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับนักวิจัยท่านหนึ่งของสถาบันแห่งหนึ่ง

ส่วนที่ถูกอ้างถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัย แต่อยู่ในส่วนทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ซึ่งเป็นหลักวิจัยทั่วไป มีบทนำ มีการทบทวนวรรณกรรมทั้งในและต่างประเทศของงานวิจัยที่เห็นว่าดีจึงยกย่องเอามาอ้างอิง

"ยอมรับว่าพิมพ์ตกหล่นจริง ได้ขออนุมัติแก้ไขแล้ว สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของห้องสมุดธรรมศาสตร์ มีคำขออนุญาตแก้ไข และได้รับการอนุมัติแก้ไขเรียบร้อยแล้ว"

สว.สมชาย จ่อฟ้องกลับ iLaw

นายสมชาย ย้ำว่า เป็นหลักปกติที่ต้องทบทวน โดยนักวิชาการ นักวิจัย หากอ่านดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ ย่อมรู้ว่าไม่ได้เป็นการคัดลอก หรือตัดแปะงานวิจัยตามที่ iLaw กล่าวหา เพราะการทบทวนวรรณกรรมคือการนำงานวิจัยมาใส่แล้วอ้างอิงเชิงอรรถและบรรณานุกรม ในเล่มนี้มีการอ้างอิงมาตลอด แต่มีสองเล่มที่เขียนจากท่านเดียวกันจึงทำให้เกิดการตกหล่น แต่ได้รับการอนุมัติให้แก้ไขแล้ว

ดังนั้นการที่ iLaw นำเสนอจึงถือเป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดหรือเป็นข้อมูลเท็จทำให้เกิดความเสียหาย โดยอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดีหรือไม่

การหยิบยกข้อเขียนของ iLaw มาประกอบ

เหมือนการนำข้อความจากหนังสือพิมพ์ หรือห้องสมุดวิชาการของ สว. มาประกอบ ซึ่งมีการอ้างอิง เนื่องจากมองว่าเป็นประโยชน์จึงนำมาใส่ ไม่ใช่การคัดลอกตัดแปะวิทยานิพนธ์อย่างแน่นอน ผู้ที่จะยืนยันได้ คือ ผู้ถูกสัมภาษณ์ในงานวิจัย ผู้ร่วมกิจกรรมสัมมนา Focus Group ถึงสองครั้ง และงานวิจัยยังอ่านได้ 

เปิดเผยข้อมูล ใกล้เลือก สว.หรือ มีวาระแอบแฝงทางการเมือง

การเลือกมาเปิดเผยข้อมูลช่วงเวลานี้ นายสมชาย ไม่ทราบว่า เเต่อาจเพราะใกล้เลือก สว.คนจึงค้นคว้าแล้วเจอ หรือมีวาระแอบแฝงทางการเมืองก็ได้ เนื่องจากตนออกมาระบุถึงกระบวนการฮั้วกันในการเลือก สว. มีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มลงไปเคลื่อนไหวให้คนสมัครเพื่อมาเลือก สว. ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประสงค์รับสมัครผู้อยากเป็น สว. แล้ว กกต.ยังไม่ทำหน้าที่