วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2567) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.แถลงข่าวถึงความคืบหน้าเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ที่มีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลกรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานกรรมการ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ครั้งที่ 15/2667 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 พิจารณาแล้วมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 8 ข้อ ทั้งนี้เป็นแค่ข้อเสนอแนะ ไม่มีสภาพบังคับ คาด 1-2 วันจะถึงมือครม.ดังนี้
1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และ พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency)
การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4 - 5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
4.การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6) พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต
ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง
6.ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน
7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น
ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น
ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว
การดำเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว