จากกรณีเหตุถนนกาญจนาภิเษกบริเวณหน้าปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งเกิดการยุบตัวซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับคนไทย และที่ผ่านมาสังคมต่างวิพากวิจารณ์ในเรื่องนี้กันมาต่อเนื่อง
ล่าสุด ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ "ดร.เอ้" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ที่ก่อนหน้านี้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ้ สุชัชวีร์" เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายจัดตั้ง "องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" นั้น ได้เปิดเผยความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า
ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากประชาชนอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า ประชาชนรู้สึกกังวลถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วมากกว่า 6,000 รายชื่อซึ่งคาดว่า จะครบ 10,000 รายชื่อในเร็ว ๆ นี้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนกทม.เสี่ยงได้ทุกวันทั้งสะพานถล่ม เครนล้ม คานร่วง รางหลุด ล้อร่วง และล่าสุดเมื่อวานนี้ (5 ม.ค.67) ได้เกิดเหตุสาธารณะอีกครั้งโดยถนนกาญจนาภิเษกขาเข้า ก่อนออกถนนพระราม 2 เกิดการยุบตัวลงและพบร้อยแตกร้าวเป็นบริเวณกว้าง
ถึงเวลาแล้วที่เราจึงต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัย มาร่วมลงชื่อให้ครบ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมาย จัดตั้ง "องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" ที่ suchatvee.com เพื่อเป็นตัวแทนปกป้องสิทธิ์ของคนไทยทุกคน แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะ "สิทธิการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย" คือ สิทธิพื้นฐานของมนุษย์
"ผมขอเป็นผู้นำเรียกร้องให้ทุกคนลุกขึ้นมาใช้สิทธิเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง สิทธิของการอยู่อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องหวาดระแวง กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ถนนยุบ สะพานถล่ม เครนล้ม และอีกมาก
โดยการจัดตั้ง "องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" เพราะความสูญเสียนั้นไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ ร่วมช่วยกันลงชื่อเพื่อให้เรามีองค์กรที่สามารถหาความจริงได้กันครับ" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
สำหรับ "องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" จะเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยระดับสาธารณะ ด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะ มีความเป็นกลาง นำทางด้วยหลักการทางวิชาการ อย่างเคร่งครัด โดยมีบทบาท หน้าที่ ดังนี้
1.ตรวจสอบ และนำเสนอข้อเท็จจริง ด้วยหลักวิชาการ อย่างเป็นกลาง เมื่อเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัย ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ
2.ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ อบรม ให้ความรู้ และดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยสาธารณะ แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
3.แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้าง และอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของประชาชน
4.สอดส่อง เร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐให้ปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ตลอดจนเร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะ
5.เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในความปลอดภัยสาธารณะ และพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยระดับสาธารณะตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย
6.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กร