จากกรณีที่กรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กว่าหมื่นตัน
ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง โดยการขนย้ายจากบ่อฝั่งกลบที่จังหวัดตากออกมาที่จังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นการกระทำความผิดที่รุนแรงมาก จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย เพราะเก็บใส่ถุงบิ๊กแบ๊กในอาคารและนอกอาคารพันกว่าถุง จึงต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประกาศเขตภัยพิบัติฯ นั้น
ต่อกรณีดังกล่าวนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ,นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้เข้าตรวจสอบที่บริษัทหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 2 ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่นำกากแร่แคดเมียมจากจังหวัดตาก เข้ามากักเก็บไว้ที่โรงงานแห่งนี้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ได้ออกมาในการเข้าไปตรวจสอบ และระบุว่า
จากการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร พบมีกากแร่แคดเมียมที่มาจากทางจังหวัดตากจริงประมาณ 15,000 ตัน โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้ทำการอายัติไว้แล้ว ซึ่งกากแคดเมียมส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในตัวอาคาร มีกองอยู่ภายนอกตัวอาคารบางส่วนประมาณ 100 ถุง ที่ต้องนำเข้าไปเก็บในตัวอาคารให้เรียบร้อย
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะออกคำสั่งประกาศเป็นเขตภัยพิบัติโดยห้ามบุคคลหรือสิ่งอื่นใด เข้าไปภายตัวอาคาร รวมถึงห้ามมีการหล่อหลอมแคดเมียมโดยเด็ดขาด และให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ออกคำสั่งขนย้ายกากแร่แคดเมียมทั้งหมดออกจากจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อส่งกลับไปยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก เพราะกากแร่ตัวนี้ตาม EIA แล้ว ห้ามขนย้ายออกมาจากจังหวัดตาก โดยจะให้เวลารีบดำเนินการภายใน 7 วันนับจากนี้ ส่วนกากแร่แคดเมียมตัวนี้ถูกขนย้ายมาอยู่ที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างไรนั้น ก็ต้องไปตรวจสอบที่อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้ขนย้ายออกมา
นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้กักเก็บและบดย่อยกากอุตสาหกรรมและหล่อหลอมอะลูมิเนียมเท่านั้น แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้หล่อหลอมกากแคดเมียม ดังนั้นการกระทำของโรงงานจึงถือว่ามีความผิดฐานประกอบการ(หล่อหลอมแคดเมียม)โดยไม่ได้รับอนุญาต
และยังเก็บวัตถุเป็นพิษโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย มีโทษสูงสุดทั้งจำและปรับ ขณะที่ในส่วนของกากแคดเมียมตัวนี้ เป็นกากที่ถูกทำลายฤทธิ์แล้วก่อนลงสู่หลุมฝังกลบที่จังหวัดตาก แต่การนำออกจากหลุมที่จังหวัดตากมาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทำการหล่อหลอมกากแร่แคดเมียมนั้นเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด
นอกจากความผิดที่พบขณะเข้าตรวจสอบแล้วนั้น ยังต้องรอผลการตรวจสอบจากฝ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งจากเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมฯ ว่าสารแคดเมียมมีการกระจายออกสู่ภายนอกตัวอาคารหรือไม่, สาธารณสุขมีการตรวจหาว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมหรือไม่ และ ปทส.ทำการสอบโดยเชิงลึกว่า มีการหล่อหลอมกากเหล่านี้ไปบ้างแล้วหรือไม่ เป็นต้น
ตัวแทนโรงงาน ระบุว่า กากแคดเมียมทั้งหมดดังกล่าวเริ่มมีการขนย้ายเข้ามาเก็บกองไว้ที่โรงงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 โดยใช้เวลากว่า 3 เดือน ซึ่งหลังจากที่หน่วยงานราชการเข้าตรวจสอบแล้วสั่งให้ขนย้ายกากแคดเมียมทั้งหมดเข้าไปภายในตัวอาคารก่อน ก็จะรีบดำเนินการให้เสร็จภายในวันเดียว แต่เรื่องของการขนย้ายกลับไปยังจังหวัดตากภายใน 7 วันนั้น ก็จะรีบทำให้เร็วที่สุด ส่วนที่ว่ากากแคดเมียมทั้งหมดถูกนำมาทำอะไรนั้น ส่วนตัวแล้วไม่รู้ต้องถามทางเจ้าของโรงงาน รู้เพียงแค่ว่า เมื่อรับเข้ามาก็นำมากักเก็บไว้เท่านั้น
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาครรายงานเบื้องต้นว่า จากการเข้าตรวจสอบบริษัทปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้ 1.บริษัท ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานทั้งสิ้น 3 ใบอนุญาต โดยเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 จำนวน 3 ใบอนุญาต โดย 2 ใบอนุญาตแรกอยู่ในโรงงานเดียวกัน และอีก 1 ใบอนุญาตแยกสถานที่ออกมา แต่อยู่ในย่านเดียวกัน โดยทั้งหมดประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะประเภทต่าง ๆ ซึ่งจากการตรวจสอบโรงงานที่มี 2 ใบอนุญาต พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊กสีขาวจำนวนประมาณ 1,300 ถุง และพบอยู่ภายนอกโรงงานอีก 100 ถุง
เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมที่อยู่ภายนอก เข้าไปในโรงงานโดยเร็วที่สุด ส่วนโรงงานทะเบียน ที่มี 2 ใบอนุญาต และอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงานแรก พบกากอะลูมิเนียมอยู่ภายในโรงงาน และมีกากแคดเมียมและกากสังกะสีจำนวน 9 ถุง เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสีจำนวน 9 ถุงนำไปเก็บไว้ที่โรงงานแรกโดยด่วน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบโรงงานที่มี 1 ใบอนุญาต ซึ่งพบกากแคดเมียมและกากสังกะสีอีก 227 ถุง อยู่ภายในโรงงาน จากการสอบถามเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษที่ร่วมตรวจสอบได้ให้ความเห็นว่ากากแคดเมียมและกากสังกะสีดังกล่าวจะผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% เพื่อทำลายฤทธิ์ และอยู่ในสถานะแข็งตัว หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิดและไม่มีการชำระล้าง จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่สิ่งที่จังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการไปแล้วคือ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 อายัดกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่พบทั้งหมดอยู่ภายในบริษัทดังกล่าว และมีคำสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามนำกากแคดเมียมและกากสังกะสีเข้าสู่กระบวนการผลิต ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานเก็บ และดำเนินคดีฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดใช้อำนาจตามมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ออกประกาศห้ามมิให้บุคคลใดๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงานทั้ง 2 แห่ง เป็นระยะเวลา 90 วัน, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครใช้อำนาจตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 สั่งให้นำกากแคดเมียมและกากสังกะสีทั้งหมดกลับไปฝังกลบในบ่อเก็บตามเดิม
,สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครดำเนินคดีกับผู้ประกอบการตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ในฐานความผิดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 โดยไม่บริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ,กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5
และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ได้เก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานและบริเวณโดยรอบโรงงานไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อน จะทราบผลใน 2 สัปดาห์
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตรวจคัดกรองและตรวจหาสารแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงานว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ จะทราบผลใน 1 สัปดาห์
องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำจืดได้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบอาคารโรงงานว่าเป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือไม่,กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ดำเนินการสืบสวนการกระทำความผิดอาญาที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมในบริเวณดังกล่าว และกากแคดเมียมและกากสังกะสีดังกล่าวซึ่งผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% ปัจจุบันอยู่ในสถานะแข็งตัวและเสถียร หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิดและไม่มีการชำระล้าง จะยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม