ศธ.ดันก่อหนี้ 1.5 หมื่นล้าน เช่าแท็บเล็ต-โน๊ตบุ๊ก แจกครู-นร. 6 แสนเครื่อง

21 ก.พ. 2567 | 17:25 น.

ส่องมติครม.ล่าสุด อนุมัติให้สพฐ.ก่อหนี้ผูกพัน 1.5 หมื่นล้าน งบประมาณปี 2568 - 2572 เช่าแท็บเล็ต-โน๊ตบุ๊ก-Chromebook จำนวน 6 แสนเครื่อง นาน 60 เดือน สนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 67 มีวาระที่น่าสนใจ คือมีการอนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ขอก่อหนี้ผูกพันกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ด้วยการเช่าแท็บเล็ต-โน๊ตบุ๊ก-Chromebook จำนวน 6 แสนเครื่อง เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา

โดยวาระครม. ดังกล่าว ครม.มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป  

ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า "โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime)" ที่มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 22,102,973,600 บาท 

ที่จะเสนอแบ่งเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 7,469,328,800 บาท 

ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 14,633,644,800 บาท เสนอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - พ.ศ. 2572 

สำหรับสาระสำคัญของวาระนี้ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รายงานให้ครม.ทราบว่า ศธ. เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงศตวรรษที่ 21 โดยจะมีการปรับรูปแบบการเรียนรู้และการสอนเพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพของคนทุกช่วงวัยด้วยการปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย

และนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนการสอน มีการพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ. ให้มีประสิทธิภาพ

รวมทั้งขยายประสิทธิภาพการทำงานของดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform: NDLP) ระยะที่ 1 จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการสื่อสารและการเรียนแบบสองทาง 

โดยนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของครูและบุคลากรทางการศึกษาในกำกับ ศธ. ให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ศธ. โดย สพฐ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา : พัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 วงเงินงบประมาณ 482.26 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. 

สามารถรองรับโรงเรียนคุณภาพ ในสังกัด ศธ. จำนวน 349 โรงเรียน และมีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆรวมทั้งสิ้น 482.26  ล้านบาท ดังนี้

  • เช่าใช้ระบบคลาวด์ระดับ ศธ.    วงเงิน 36.38 ล้านบาท
  • จ้างที่ปรึกษาพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (NDLP) วงเงิน 200.88 ล้านบาท
  • จ้างที่ปรึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน วงเงิน 245 ล้านบาท 

กระทรวงศึกษาฯ รายงานครม.ต่อไปว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะจัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด ศธ. จำนวน 29,312 โรงเรียน 

โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 วงเงินรวม 22,102.97 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 กิจกรรม สรุปได้ ดังนี้

 

1.การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่ทุกเวลา(ระยะที่ 2) 6.5 พันล้าน

งบประมาณ 6,531.08 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เปลี่ยนบทบาทครูเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยการเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระและประกอบอาชีพได้โดยไม่เป็นภาระต่อสังคม มีการดำเนินการ ดังนี้

  • การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น จัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและการบริหารจัดการระบบ การจัดทำนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์
  • การเช่าใช้ระบบคลาวด์ สำหรับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา

 

2. การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน 1.5 หมื่นล้าน

เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา งบประมาณ 15,571.90 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

โดยสนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และมีโอกาสได้อย่างเท่าเทียมครอบคลุมทั้งในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

  • เช่าอุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา จำนวน 607,655 เครื่องรวมเป็นเงิน 15,491.90 ล้านบาท ระยะเวลา 60 เดือน สรุปได้ ดังนี้
  • อุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 547,991 คน จากโรงเรียน 1,018 แห่ง วงเงิน 13,809.37 ล้านบาท
  • อุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) สำหรับครู จำนวน 59,664 คน จากโรงเรียน 1,018 แห่ง วงเงิน 1,682.52

รวมทั้งสิ้นครูและนักเรียนจากโครงการดังกล่าวจะได้รับ Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook จำนวน 607,655 คน วงเงินงบประมาณ 15,491.90 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลรวมเป็นเงิน 80 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น

  • การจัดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
  • การจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี การสร้างสรรค์สื่อและการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลและการสร้างเครือข่ายผู้สร้างสื่อเทคโนโลยีและผู้ใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล 

ทั้งนี้ ศธ. จะเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับปีงบประมาณอื่น ๆ จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้ว

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับ กระทรวงศึกษารายงานต่อครม.ด้วยว่า 

  1. สพฐ. มีระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในโลกปัจจุบัน
  2. ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทันสมัย โดยปรับบทบาทจาก “ครูผู้สอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อำนวยการการเรียนรู้” ที่ทำหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำวิธีเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ ออกแบบกิจกรรม และสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
  3. ผู้เรียนได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
  4. ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผู้เรียนสามารถ “เรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา”
  5. นักเรียนและครูผู้สอน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มีอุปกรณ์ที่สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์ม NDLP ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
  6. ไทยเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต