"แจกเงินดิจิทัล" เทียบ "จำนำข้าว" ป.ป.ช. เฉลย เหตุชี้มูลทุจริต

13 ก.พ. 2567 | 23:45 น.

นิวัติชัย เกษมมงคล  เลขาธิการ ป.ป.ช. เฉลย คำเตือนรัฐบาล เป็นเหตุชี้มูลทุจริต เปรียบเทียบ 2 โครงการ"แจกเงินดิจิทัล" และ "จำนำข้าว" ยืนยัน ป.ป.ช. มีอำนาจตามกฎหมาย

จากกรณี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น เป็นสัญญาณเตือนว่า หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการดังกล่าว จะต้องถูกตรวจสอบจาก ป.ป.ช. หรือไม่ และเป็นการใช้อำนาจเกินหน้าที่หรือไม่

นายนิวัติชัย เกษมมงคล  เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการคมชัดลึก ออกอากาศทางช่องเนชั่นทีวี ยืนยันว่าคำแนะนำของป.ป.ช. ต่อโครงการโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น เป็นการทำตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ปี 2542 ซึ่งกำหนดให้มีอำนาจในการป้องกันการทุจริตด้วยไม่ใช่เพียงการปราบปรามอย่างเดียว จึงไม่ใช่การทำเกินหน้าที่

โดยในมาตรา 32 ระบุให้ คณะกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจในการเสนอความเห็น และมาตรการ หรือข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา องค์กรศาล อัยการ รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ และส่วนราชการ เพื่อดูข้อที่จะสุ่มเสี่ยง ต่อการเกิดการทุจริต รวมถึงมาตรา 35 ที่ระบุให้ป.ป.ช. ต้องทำหน้าที่ในการป้องปรามด้วย

นายนิวัติชัย เกษมมงคล  เลขาธิการ ป.ป.ช.

ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดของข้อเสนอแนะ จะเห็นว่า ป.ป.ช. ไม่มีคำว่าห้ามดำเนินโครงการแจกดิจิทัล 10,000 บาท มีแต่เพียงความเสี่ยง และข้อเสนอแนะที่ให้รัฐบาลควรตระหนักถึง

โดยป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารวบรวมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจ มาร่วมให้ความคิดเห็นและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ เช่นการระบุว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจได้เพียง 0.4% ก็เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการวิเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นต้น ป.ป.ช. ไม่ได้คิดเองเออเอง  

หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สิ่งที่ป.ป.ช. ต้องพิจารณาก็คือการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือผู้ใดผู้หนึ่งหรือไม่ เช่นมีห้างห้างสรรพสินค้ารายเดียวที่ได้รับประโยชน์แทนที่จะเป็นร้านค้ารายย่อย หรือโชห่วย เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูเจตนาของผู้กระทำด้วยว่า เจตนาทุจริตหรือไม่

\"แจกเงินดิจิทัล\" เทียบ \"จำนำข้าว\" ป.ป.ช. เฉลย เหตุชี้มูลทุจริต

อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ต่อจากนี้หากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น แต่ใช่ว่าหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แล้วจะถูกดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเร็วเกินไป

หากเปรียบเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวที่ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือเตือนถึงรัฐบาล 2 ครั้ง โดยในครั้งที่ 1 เป็นการเตือนก่อนเริ่มโครงการเช่นเดียวกันกับโครงการแจกเงินดิจิทัลนี้ แต่คำเตือนครั้งที่ 2 ในโครงการรับจำนำข้าว มีความหนักแน่นยิ่งขึ้น เนื่องจากเริ่มมีข้อมูลผู้ร้องเรียน และมีความผิดสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว และการที่ป.ป.ช. เคยส่งหนังสือเตือนถึง 2 ครั้งมาแล้ว เป็นปัจจัยประกอบในการชี้มูลความผิดโครงการรับจำนำข้าวด้วย เนื่องจากรัฐบาลยังฝืนดำเนินโครงการต่อเนื่องไป ประกอบกับข้อมูลข้อเท็จจริงอื่นๆ

หลังจากป.ป.ช.ได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลแล้วนำมาสู่การตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มอีก 2 ชุดนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีว่ารัฐบาลมีการรับฟังข้อเสนอแนะ ซึ่งคอนเซปของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทุกโครงการต้องโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้