ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกร่วง 25% ปิกอัพไม่ฟื้น หนี้เสียพุ่ง

13 เม.ย. 2567 | 03:27 น.

ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกปี 2567 ปิดตัวเลขกว่า 1.6 แสนคัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ภาพรวมยังหนืดจากไฟแนนซ์คุมเข้มสินเชื่อ หลังหนี้เสียพุ่ง ด้านปิกอัพร่วงหนัก “โตโยต้า” ปรับเป้าตลาดรวมเหลือ 7.3 แสนคัน

สรุปยอดขายรถยนต์ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 67) รวมทุกยี่ห้อทำได้กว่า 1.6 แสนคัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ทั้งแบรนด์ญี่ปุ่น อเมริกัน จีน ร่วงถ้วนหน้า มีเพียง เกรท วอลล์ มอเตอร์ รายเดียวที่ตัวเลขเป็นบวก (ดูตารางประกอบ)

 

ส่วนตลาด EV ยังมียอดจดทะเบียนต่อเนื่อง โดยเป็นของ BYD เกือบ 10,000 คัน NETA 2,800 คัน Deepal ในเครือฉางอัน 870 คัน

ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกร่วง 25% ปิกอัพไม่ฟื้น หนี้เสียพุ่ง

เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดพบว่า สถานการณ์ของรถปิกอัพ (ไม่รวมพีพีวี) ค่อนข้างสาหัส ซึ่งตลาด 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 67) ทำได้รวม 53,623 คัน ลดลง 43.3% ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่ง 47,731 คัน ลดลง 9.3%

 

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ประกอบ กับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน จึงคาดว่าตลาดรถยนต์รวมปีนี้จะอยู่ที่ 7.3 แสนคัน ลดลงจากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ 8.0 แสนคัน

 

สำหรับโตโยต้า หวังส่วนแบ่งทางการตลาดปี 2567 ไว้ 34% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 2.5 แสนคัน ซึ่งบริษัทเตรียมเปิดตัวรถยนต์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรถไฮบริดรุ่นใหม่

“ตลาดรถยนต์ปี 2566 มียอดขาย 7.7 แสนคัน ลดลง 9% ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ตลาดรถยนต์ไม่เติบโต โดยเฉพาะรถปิกอัพ ที่ได้รับผลกระทบ จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ก็ทำให้ตลาดปิกอัพในปีที่ผ่านมาลดลงกว่า 30%” นายยามาชิตะ กล่าว

 

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยปี 2567 คาดว่ากำลังผลิตจะทำได้ 1.9 ล้านคัน แม้จะเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ก็ตํ่ากว่าที่ประเมินไว้ (1.95 ล้านคัน) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยอดขายในประเทศลดลง ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ 7.5 แสนคัน และส่งออก 1.15 ล้านคัน

ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกร่วง 25% ปิกอัพไม่ฟื้น หนี้เสียพุ่ง

สำหรับปัจจัยลบที่มีผลกระทบ กับยอดขายในประเทศคือ หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และหนี้เสีย (NPLs) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ไฟแนนซ์ต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันยังกระทบกับตลาดรถยนต์มือสอง ที่ปริมาณซัพพลายล้นตลาด จากปัญหาการยึดรถที่เพิ่มขึ้น ทำให้รถมือสองราคาตก

 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ยังต้องปรับตัวกับมาตรการใหม่ของภาครัฐ ทั้งการบังคับใช้มาตรฐานไอเสีย ยูโร 5 ที่ทำให้ราคารถยนต์สูงขึ้น

 

ตลอดจนมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV 3.0, EV 3.5 และมาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ รถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Bus & E-Truck) โดยให้บริษัท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

 

ด้านยอดขาย EV ในไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ระดับ 1.0-1.2 แสนคัน ที่ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการ กระตุ้นของรัฐบาล