EV จีนไล่บี้ ค่ายญี่ปุ่น “เลิกกั๊ก” งัดไม้ตายลดราคาสู้

05 มี.ค. 2567 | 01:16 น.

ในปี 2566 ยอดขายกลุ่มรถยนต์นั่งค่ายญี่ปุ่น ติดลบถ้วนหน้า ทั้ง มาสด้า นิสสัน ซูซูกิ มีเพียงโตโยต้า กับ ฮอนด้า ที่รอดมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ไฟแนนซ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ และอีกปัจจัยสำคัญคือการถูก EV จีนตีกินยอดขาย

ยอดขายรถยนต์รวมปี 2566 ที่ปิดตัวเลขไป 7.75 แสนคัน ลดลง 8.5% โดยตลาดปิกอัพ ต้องสู้กันต่อไปด้วยเครื่องมือที่แต่ละค่ายถนัด  แต่ในเซกเมนต์รถยนต์นั่ง กลับเจอความท้าทายที่ต่างออกไป จากที่ค่ายรถญี่ปุ่นมีตำราเดิมๆ ในการทำตลาด การขาย ซึ่งจะย้อนไปสร้างสมดุลที่ต้นทางการผลิต(โรงงานต้องเดินกำลังผลิตต่อเนื่อง) แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมทางการตลาดเปลี่ยนไปจากการมาของ EV จีน

 

ด้านผู้นำในตลาดรถยนต์นั่ง ฮอนด้า ที่ยอดขายลดลงต่อเนื่องมาหลายปี ดังนั้นปี 2566 อาจจะเติบโตมาจากฐานยอดจายที่ต่ำ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า การกระหน่ำโปรโมชัน และประชาสัมพันธ์แคมเปญลดราคาอย่างโจ๋งครึ่ม อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่งผลให้ฮอนด้า ทวงยอดขายกลับคืนมาได้บ้าง 

 

นายฮิเดโอะ คาวาซากะ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แบรนด์จีนเข้ามากระทบกับรถระดับ ซี-เซกเมนต์  และ ดี-เซกเมนต์ (ฮอนด้า ซีวิค-แอคคอร์ด) ซึ่งฮอนด้ามีความสมบูรณ์แบบของตัวรถ สามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความแตกต่างได้ เช่นเดียวกับระบบฟูลไฮบริดที่พัฒนาให้ดีขึ้นมากๆ ถือเป็นสินค้าที่บริษัทกล้านำเสนอให้แก่ลูกค้าด้วยความมั่นใจ ส่วนการตั้งราคาขาย สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสมแล้ว

 

“ต้องยอมรับว่าราคาขาย ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันการจะปรับราคาคงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง แต่การใช้แคมเปญส่งเสริมการขาย จะเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องนำมาใช้” นายคาวาซากะ กล่าวสรุป  

 

สำหรับปีนี้ ฮอนด้า และบรรดาค่ายญี่ปุ่นอื่นๆ ยังโหมโปรโมชันเป็นหลักแสนบาทต่อคัน ทั้ง นิสสัน มาสด้า ซูซูกิ ซึ่งการใช้เงินสนับสนุนการขายลักษณะนี้ ย่อมทำให้การขายรถต่อคันกำไรบางลง แต่เป็นสิ่งที่บริษัทแม่ต้องทำเพื่อหล่อเลี้ยงเครือข่ายผู้จำหน่าย และรักษากำลังการผลิตให้อยู่ในระดับสมดุล 

ล่าสุด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  ประกาศลดราคารถยนต์ 2 รุ่นคือ อีโคคาร์ซีดาน SUZUKI CIAZ และรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง SUZUKI XL7 รุ่นละ 1.5 แสนบาทและ 8 หมื่นบาทตามลำดับ

 

ส่งผลให้ SUZUKI CIAZ รุ่นเริ่มต้นเกียร์ธรรมดา ขายแค่ 3.78 แสนบาท ขณะที่ SUZUKI XL7 เหลือเพียง 7.34 แสนบาท

 

นอกจากการลดราคาแล้ว ยังเห็นวิธีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ลงสู่ตลาด แม้จะปรับโฉมเพิ่มความสดใหม่ ใส่ออพชันเข้ามาอีกหลายตัว แต่กลายเป็นว่า พ.ศ.นี้ ค่ายญี่ปุ่นไม่กล้าขึ้นราคา หรือบางรุ่นยังต้องลดราคาลงมาด้วยซ้ำ

 

สถานการณ์นี้ เห็นได้ชัดกับ Toyota Corolla Cross ไมเนอร์เชนจ์ ที่แต่งหน้าทาปาก และเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆ (โดยเฉพาะรุ่นท็อป) เช่น Panoramic Roof แบบ Frameless พร้อมม่านบังแดดปรับไฟฟ้าอุปกรณ์ชาร์จไฟแบบไร้สาย Wireless charger กล้องมองรอบคัน กล้องวิดีโอบันทึกภาพติดรถยนต์ ด้านหน้า และด้านหลัง ระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB และระบบหน่วงเบรกอัตโนมัติ ABH แต่ยังขายราคาเดิม 

 

เช่นเดียวกับ Honda City ตัวถังแฮตช์แบ็ก ไมเนอร์เชนจ์ เกือบทุกรุ่นไม่ปรับราคาขึ้น (ยกเว้นรุ่น 1.0 ลิตร เทอร์โบ SV เพิ่มขึ้น 4,000 บาท) และในรุ่นไฮบริด e:HEV ยังทำราคาลดลง กล่าวคือในรุ่นท็อป RS (เดิมขายตัวเดียว) 8.49 แสนบาท แต่รุ่นใหม่ เหลือ 7.99 แสนบาท 

ทั้งนี้ ผู้บริหารค่ายรถญี่ปุ่นหลายราย ต่างออกตัวไปในทิศทางเดียวกันว่า การมาของ EV จีน ที่ได้การสนับสนุนจากภาครัฐ(EV 3.0 - 3.5) ทำให้ราคาจูงใจมากขึ้น จนโกยยอดขายเป็นกอบเป็นกำ ระดับ 80,000 คันในปี 2566 นั่นทำให้ประเทศไทยมีสัดส่วนการขาย EV มากกว่า 10% เมื่อเทียบกับตลาดรวม ซึ่งเป็นอัตราส่วนสูงที่สุดในอาเซียน

 

ดังนั้น ในระหว่างที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา EV ออกมาสู้ หรือปรับแผนงานโปรดักต์ใหม่ ช่วงนี้คงต้องงัดโปรโมชัน/ลดราคา ออกมาดันยอดขาย เพื่อหล่อเลี้ยงซัพพลายเชน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องของตนเองไปก่อน 

 

สำหรับปีมังกร 2567 คาดหมายว่ายอดขาย EV จะทะลุ 1 แสนคัน และมีค่ายรถใหม่จากจีนตามมาสมทบอีกอย่างน้อย 2 ราย จึงเชื่อว่าค่ายญี่ปุ่นทั้งเบอร์ใหญ่ แบรนด์รอง ยังต้องเหนื่อยหนักในการงัดทุกไม้เด็ดให้ผ่านสถานการณ์ช่วงนี้ ไปให้ได้