13-14-15 เมษายน ความหมายของแต่ละวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567  

11 เม.ย. 2567 | 19:23 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2567 | 20:12 น.

วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณกาล เป็นประเพณีที่งดงามและเต็มไปด้วยความหมาย คำว่า "สงกรานต์" หรือ “สํ-กรานต” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ผ่าน หรือการเคลื่อนที่ ย้ายที่ มีความเชื่อมโยงกับวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติ

ด้วยวิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก ทำให้ การกำหนดวันนับสงกรานต์ จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วันนี้ จะมีชื่อเรียกเฉพาะแตกต่างกัน ดังนี้

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “มหาสงกรานต์” หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่น ๆ มาแล้วจนครบ 12 เดือน
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้ว
  • ส่วน วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “เถลิงศก” หรือ “วันขึ้นศก” คือวันที่เริ่มจุดเปลี่ยนศักราชใหม่ การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่า ดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีน ขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้ว อย่างน้อย 1 องศา

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน รัฐบาลยังกำหนดให้สามวันดังกล่าว คือ วันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน มีความสำคัญและความหมายเพิ่มเติม นอกเหนือจากเรื่องของการนับวัน-เดือน ทางสุริยคติ และการขึ้นศักราชใหม่ นั่นคือ  

13 เมษายน รัฐบาลยังกำหนดให้เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อให้ลูกหลาน ได้เห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และบุพการี  (ภาพข่าวเนชั่น)

  • วันที่ 13 เมษายน หรือ "วันมหาสงกรานต์” รัฐบาลยังกำหนดให้เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อให้ลูกหลาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ บุพการี หรือผู้อาวุโสในครอบครัว
  • วันที่ 14 เมษายน หรือ "วันเนา” รัฐบาลได้กำหนดให้เป็น "วันครอบครัว” เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่ เดินทางกลับไปหาครอบครัว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรักความอบอุ่น ที่จะได้พบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และทำกิจกรรมในครอบครัวร่วมกัน
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือเป็น วันเริ่มศกใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย นั่นเอง

 

ในภาคต่างๆของไทย ยังเรียกสามวันนี้แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น

ภาคกลาง

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์”
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา”
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” คือ วันเริ่มจุลศักราชใหม่ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ภาคเหนือ ล้านนา

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขารล่อง” หมายถึงอายุสิ้นไปอีกปี
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเน่า” เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ไม่เจริญ
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันพญาวัน” คือ วันเปลี่ยนศกใหม่

ภาคใต้

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันเจ้าเมืองเก่า” หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” เพราะมีความเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง โดยทุกคนจะไปทำบุญที่วัด
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิม

"น้ำ" มักจะเป็นองค์ประกอบหลักในพิธีการต่างๆเกี่ยวกับวันสงกรานต์

พิธีต่างๆ เนื่องในวันสงกรานต์

"น้ำ" มักจะเป็นองค์ประกอบหลักในพิธีการต่างๆเกี่ยวกับวันสงกรานต์ หรือพิธีสงกรานต์ เนื่องจากการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนนั้น การใช้น้ำมารดให้แก่กัน จะทำให้เกิดความสดชื่นรื่นรมย์ โดยหลักๆ แล้ว พิธีสงกรานต์ต่างๆนั้น ได้แก่

  • การสรงน้ำพระ ทั้งที่บ้านและที่วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงการทำบุญตักบาตรไหว้พระ
  • การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้แก่กันและกัน
  • การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการไปแสดงความเคารพรัก และขอพรจากผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์
  • การดำหัว เป็นพิธีสงกรานต์ทางภาคเหนือ โดยจะคล้ายกับการรดน้ำผู้ใหญ่ในภาคกลาง เป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่
  • การขนทรายเข้าวัด มีความเชื่อว่า เพื่อความเป็นมงคล ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองมากมายเหมือนเม็ดทรายที่ขนเข้าวัด และอีกความเชื่อก็คือ การนำทรายที่ติดเท้าออกวัด เป็นบาป จึงต้องขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาปนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ / หอสมุดแห่งชาติ