การแข่งขันแกะสลักหิมะซัปโปโร หรืองาน “International Snow Sculpture” ปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 48 ซึ่งกลับมาจัดกิจกรรมอีกครั้ง หลังห่างหายการจัดไปกว่า 4 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 และยังนับว่าเป็นกิจกรรมไฮไลต์ ภายใต้เทศกาลหิมะ “Sapporo Snow Festival ครั้งที่ 74” ณ เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่เสพติดอากาศหนาวติดลบ หิมะนิ่มๆฟูๆ ทริปเที่ยวฮอกไกโดช่วงนี้คือเลิศสุด และหากใครมีโอกาสได้ไปในช่วงเทศกาลหิมะ ซัปโปโร ที่เพิ่งผ่านพ้นไปด้วยแล้ว คือ ฟินขั้นสุด ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมและเที่ยวงานกว่า 2 ล้านคน เราไปช่วงนั้นพอดี เลยอยากเก็บบรรยากาศดีต่อใจมาฝากกัน
ตื่นตาตื่นใจมากมายไปกับประติมากรรมหิมะขนาดต่างๆนับพันชิ้น เรียงรายทอดยาว รอบสวนโอโดริ (Odori Park) สวนสาธารณะใจกลางเมืองซัปโปโร ที่ฤดูนี้ขาวโพลนไปด้วยหิมะ
ประติมากรรมหิมะมีหลายสไตล์ หลายรูปลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น ตัวการ์ตูนน่ารักๆ คาแร็กเตอร์ญี่ปุ่น ชอบสุดคือ Hello Kitty ซึ่งครบรอบ 50 ปีพอดี การแกะสลักหิมะรูปทรงต่างๆ การแกะสลักผนังหิมะขนาดใหญ่ชวนทึ่ง
บางชิ้นงานเป็น 3 มิติสมจริงมาก นอกจากนี้ยังมีบู้ทที่สามารถทดลองเล่นกีฬาเคิร์ลลิ่ง (Curling) ซึ่งเป็นกีฬาของฤดูหนาวได้อีกด้วย
รวมถึงบู้ธขายอาหาร ขนม ภายในเทศกาลที่น่ากินมากๆ
เดินทางพักใหญ่ก็ถึงไฮไลท์โซนแข่งขันแกะสลักหิมะซัปโปโร 2024 ซึ่งในปีนี้มี 9 ทีมนักแกะสลักจาก ประเทศร่วมแข่งขัน ได้แก่ ได้แก่
โดยจัดการแข่งขันขึ้นในวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2567
โดยทีมนักแกะสลัก จากประเทศไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก คว้ารางวัลที่ 2 ในการประกวดแข่งขันแกะสลักหิมะในครั้งนี้ ส่วนเกาหลีใต้ ได้อันดับ 3 และมองโกเลีย คว้าอันดับ 1
มองโกเลีย ได้สร้างประติมากรรม ภายใต้ชื่อผลงานว่า “Numur” ซึ่งชาวมองโกเลีย เชื่อว่าสุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่ฉลาดและปกป้องลูกน้อยของพวกเขาจากอันตรายใดๆ และชาวมองโกเลียก็เอาสุนัขจิ้งจอกที่ทำจากผ้าสักหลาดมาไว้ในเปลของทารก “Numur” แสดงให้เห็นสุนัขจิ้งจอกที่ปกป้องเด็กน้อยจากพายุหิมะในฤดูหนาว ด้วยร่างกายของเธอเองราวกับภูเขา มอบความอบอุ่นให้กับเขาเหมือนบ้าน และรักเขาเหมือนแม่
อันดับ 2 ประเทศไทย
ทีมแกะสลักหิมะไทยได้นำเสนอผลงานที่ชื่อว่า “The Naga Fireballs” หรือ “บั้งไฟพญานาค” โดยสร้างสรรค์ขึ้นจากเรื่องราวและความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคในรูปแบบของคนไทย ผลงานนี้เล่าเรื่องราวของพญานาคในบริบทของความเชื่อทางพุทธศาสนาและถูกสืบสานผ่านตำนานบั้งไฟพญานาคที่คนท้องถิ่นในภาคอีสานเชื่อว่าพญานาคเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงและพญานาคในแม่น้ำโขงเป็นผู้จุดบั้งไฟนี้เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันออกพรรษา
นอกจากเรื่องความเชื่อและความศรัทธาแล้วพญานาคในผลงานชิ้นนี้จึงยังสะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างสายน้ำ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนไทย นอกจากนี้ ทีมช่างแกะสลักยังตั้งใจออกแบบและแกะสลักลวดลายให้ละเอียดอ่อนประณีต เพื่อนำเสนอความสวยงามของจิตรกรรมและประติมากรรมเชิงพุทธศิลป์แบบไทย ซึ่งคนที่เข้าชมงานที่เห็นผลงานนี้ ต่างใช้คำว่า “อิลิแกนซ์”
อันดับ 3 เกาหลีใต้
เป็นผลงานของทีมแกะสลักหิมะจากเมืองแทจอน ที่ต้องการสื่อถึง “Harmony” ความกลมกลืน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน งานประติมากรรมชิ้นนี้สื่อถึงความพึ่งพาอาศัยกันและความรักระหว่างชายหญิง นำเสนอผ่านรูปลักษณ์ของหม้อ ที่เป็นสัญลักษณ์แก่นแท้แห่งความรัก
อย่างไรก็ตามการจัดแข่งขันแกะสลักหิมะซัปโปโร เปิดกิจกรรมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2534 โดยครั้งนี้นับเป็นการส่งตัวแทนเข้าแข่งขันครั้งที่ 21 โดยที่ผ่านมาช่างแกะสลักตัวแทนประเทศไทยได้รับ รางวัลชนะเลิศ (Champion) รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง และคว้ารางวัลชนะเลิศติดต่อกัน 3 ปีซ้อน (Grand Champion) จำนวนถึง 2 ครั้ง อย่างที่ไม่มีตัวแทนของประเทศอื่นสามารถทำได้มาก่อน
ถือเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงความสามารถของช่างศิลป์ไทย และเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์งานศิลป์แบบไทยที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมาแต่ช้านานผ่านงานเทศกาลระดับโลก สำหรับตัวแทนประเทศไทยที่ ททท. สนับสนุนให้เข้าแข่งขันในปีนี้ คือทีมที่ได้สร้างชื่อเสียงมาแล้วหลายครั้ง ประกอบด้วย
โดยในปีนี้ สำนักข่าว NHK WORLD-JAPAN และ TV Asahi ได้เตรียมนำเสนอเนื้อหาพิเศษเกี่ยวกับทีมแกะสลักหิมะไทยเพื่อเผยแพร่ไปยังผู้ชมชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ
รวมถึงยังมีการนำเสนอผ่าน Hokkaido Newspaper ที่มียอดตีพิมพ์ 800,000 ฉบับต่อวัน ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงและช่วยดึงดูดชาวญี่ปุ่นให้สนใจมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ในอนาคตด้วย
เปิดใจทีมแกะสลักหิมะ นำ‘บั้งไฟพญานาค’สู่โลก
นายกุศล บุญกอบส่งเสริม หัวหน้าทีมแข่งขันแกะสลักหิมะในครั้งนี้ กล่าวว่า สำหรับผลการแข่งขันที่เกิดขึ้น แม้จะรักษาแชมป์ไม่ได้ แต่ทางทีมก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจกับชิ้นงานแกะสลักที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย จากรางวัลรองชนะเลิศ และผลงานนี้ก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงาน หลายคนก็พูดถึงความละเอียดของผลงานแกะสลักของไทย
โดยเรานำเสนอเรื่องราวของพญานาค เราได้พร๊อพท์เรื่องมาจากภาพยนต์เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” เป็นเรื่องราวความลี้ลับของ “บั้งไฟพญานาค” ที่ยังพิสูญจน์ไม่ได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ หรือ ฝีมือมนุษย์ ซึ่งเป็นความลี้ลับที่ชวนค้นหา
แม้ไทยจะไม่มีหิมะ แต่เราก็รังสรรค์ผลงานนี้ขึ้นมา ซึ่งเกิดจากทักษะการแกะสลักน้ำแข็ง แกะสลักโฟม เรามาที่นี่ไม่มีโอกาสได้ซ้อม นอกจากแกะสลักโฟม ทำเป็นต้นแบบขึ้นมาว่าน่าจะมีรูปร่างอย่างไร
พอมาถึงหน้างานทางทีมงานก็แกะสลักน้ำแข็งเลย เราใช้เวลากว่า 3 วันครึ่งจึงจะแกะสลักแล้วเสร็จ ซึ่งตลอดเวลาการแกะสลักก็มีอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่เริ่มร้อนขึ้น การเผชิญกับหิมะที่ตกหนัก ก็ทำให้ทำงานลำบาก อีกทั้งที่ยากเป็นพิเศษ คือ การหาตำแหน่ง ซึ่งงานแกะสลักน้ำแข็งส่วนใหญ่จะทำให้เป็นลักษณะตันๆ เพื่อรับน้ำหนัก แต่ของเราเน้นแกะสลักลวดลาย บางจุดต้องเปิดพื้นที่ให้โปร่ง เช่น หาง และหัวของพญานาค
ประกอบกับการที่เราต้องกลับมาแกะสลักหิมะอีกครั้งในปีนี้ หลังจากห่างหายไปกว่า 4 ปีจากโควิด-19 ที่ไม่ได้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นมา เมื่อทุกอย่างผสมผสานกันก็ยอมรับว่าการเก็บรายละเอียดอาจจะไม่ทันกับที่เราตั้งเป้าไว้เท่าไหร่
ส่วนที่หลายคนมองว่าผลงานแกะสลักหิมะของไทยมีความงดงามและมีรายละเอียดที่เยอะกว่าผลงานที่ได้รางวัลที่ 1 นั้น ทางหัวทีมแกะสลักหิมะของไทย มองว่า การแข่งขันแกะสลักน้ำหิมะ ไม่ดูเฉพาะแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่มีเรื่องของคอนเซ็ปต์ หรือแนวคิดของชิ้นงานที่ต้องสอดคล้องกันด้วย
ทางผู้จัดงานไม่ได้มีธีมงานอะไร ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะนำเสนอผลงานอะไร การตัดสินจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ แม้เราจะได้ที่ 2 แต่หลายคนชอบผลงานของไทย เราก็ภูมิใจ ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,967 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567