สปสช. ขีดเส้น แก้ปัญหาใบส่งตัว "บัตรทอง กทม." 1 เดือนจบ

30 เม.ย. 2567 | 04:55 น.

สปสช. เร่งแก้ปัญหาใบส่งตัว "บัตรทอง กทม." ตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดพิเศษเพื่อหาข้อเท็จจริงกรณีคนไข้บัตรทองไม่ได้รับความสะดวกในการขอใบส่งตัวจากคลินิกเพื่อรักษาต่อที่โรงพยาบาล เตรียมหาข้อสรุปภายใน 1 เดือน พร้อมพิจารณาปรับเปลี่ยนระบบการส่งต่อผู้ป่วยใหม่

30 เมษายน นพ.จเด็จ  ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีความไม่สะดวกในเรื่องการขอใบส่งตัวจากคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อนำไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ที่มีการปรับรูปแบบการจัดสรรเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่น ที่เรียกว่า โมเดล 5 ใหม่ (OP New Model 5) ว่า ล่าสุดได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดพิเศษขึ้นมา 1 ชุด เนื่องจากยังมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาที่สปสช. ดังนั้น ด้วยอำนาจตามกฎหมายของสำนักงานฯ จึงต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา หากพบว่าเป็นจริงตามข้อร้องเรียน ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย  

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ได้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข พิจารณาเรื่องนี้ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน จากนั้นตามขั้นตอนก็จะเสนอเข้าบอร์ดสปสช.  ถึงแม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงใกล้เปลี่ยนผ่านบอร์ดสปสช. แต่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้ประชาชนร้องเรียนเข้ามาวันละ 20-30 รายผ่านช่องทางสายด่วนสปสช. 1330 แต่ที่ยังไม่ร้องเรียนเข้ามา มีอีกมาก โดยข้อร้องเรียนหลักๆ ตั้งแต่คลินิกไม่ส่งตัว เรียกคนที่เคยได้ใบส่งตัวกลับมา หรือร่นระยะเวลาการส่งตัวลง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เข้าข่ายไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องร้องเรียนทั้งหมดจะนำเข้าสู่การพิจารณาได้นั้น

1.ผู้ร้อง ต้องมีตัวตนจริง เปิดเผยชื่อได้ ติดต่อได้ พร้อมมาเป็นพยานได้ 

2.ต้องมีชื่อคลินิก หรือหน่วยบริการที่ถูกร้องเรียนอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์

ต่อข้อซักถามที่ว่า ประชาชนบางส่วนกังวลว่าเมื่อร้องเรียนคลินิกไปแล้วแต่สุดท้ายจะไม่มีที่รับการรักษานั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.เตรียมพร้อมเรื่องนี้ โดยประสานและเตรียมคลินิก หรือหน่วยบริการมารองรับเพราะประชาชนที่เจอปัญหาตอนนี้ แม้ไปคลินิกเดิมก็ไม่ได้รับความสะดวกอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากไปซึ่ง สปสช.สื่อสารกับคลินิกตลอด เนื่องจากงบประมาณได้โอนไปให้คลินิกตามรูปแบบการจัดสรรเงินใหม่ การที่คลินิกบางแห่งกังวลเรื่องเงินว่า จะไม่พอในการไปตามจ่าย ทำให้ไม่ยอมส่งทำแบบนี้ไม่ได้เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชน

อย่างไรก็ดี ต่อข้อกังวลที่ว่า หากมีการหาคลินิกหรือหน่วยบริการใหม่จะไม่ใกล้บ้านเหมือนเดิมนั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า กำลังพยายาม เพราะทั้งหมดอยู่ในเครือข่ายของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.69 แห่ง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนโมเดล 5 ผู้ที่เป็นเมนหลัก คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข โดยตนได้หารือร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.แล้ว

ขอย้ำว่า สปสช.ไม่ได้ต้องการใช้มาตรการเช่นนี้กับทางคลินิกแต่เรื่องนี้อยู่ในกฎหมาย เพราะก่อนหน้าเราได้ประสานขอความร่วมมือตลอด ส่งจดหมาย สื่อสารทางตรงทางอ้อมเต็มไปหมด อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วพบว่าคลินิกผิดจริง ก็มีมาตรการตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ส่งเรื่องสภาวิชาชีพ จนสุดท้ายยกเลิกสัญญา เลขาธิการสปสช.กล่าว


เมื่อถามว่าหากปัญหายังมีเรื่อยๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน หรือเปลี่ยนโมเดลอีกครั้ง นพ.จเด็จ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นไปได้แต่ไม่ใช่ว่าแค่ 2-3 เดือนจะปรับเปลี่ยนต้องขอความร่วมมือก่อนว่า ต้องทำอย่างไรให้สมดุล กำลังคิดสูตรใหม่ที่เป็นกลาง ๆ ระหว่างส่วนหนึ่งแบบเดิมกับส่วนที่เป็นแบบใหม่ หรือให้ประชาชนมีส่วนตัดสินใจด้วยตัวเองได้หรือไม่และพิสูจน์หน้างานว่า ส่งตัวไปอย่างสมเหตุสมผลก็ไม่ควรเรียกกลับมาอีก ซึ่งทั้งหมดนี้เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการสธ.คนใหม่เพราะรัฐมนตรีท่านเดิมก็รับทราบปัญหาและลงมาช่วยดู ตนเชื่อว่า รัฐมนตรีท่านใหม่ก็จะมาช่วยดูเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งสปสช.เตรียมข้อมูลแล้ว 

อย่างไรก็ดี โมเดลการจ่ายเงินต่าง ๆ ได้ปรับมาตลอด มีการปิดจุดอ่อนในอดีต มองในแง่ดีก็มีพัฒนาการไปเรื่อย ๆ ผนวกกับอนาคตจะมีเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวไปที่ไหนก็ได้ ซึ่งผู้ที่กำหนดว่าจะไปที่ไหน คือ ประชาชน

หากตัดสินใจว่า อาการหนักจริง ๆ โดยทฤษฎีไม่ควรเรียกเขากลับมาเอาใบส่งตัวอีก ที่ผ่านมาเราพูดคุยกับเจ้าของ ผู้บริหารคลินิกล้วนเข้าใจหมดแต่มีประเด็นว่าเป็นเรื่องหน้างาน ดังนั้น เร็ว ๆ นี้ สปสช.จะเชิญผู้ที่อยู่หน้างานมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย นพ.จเด็จกล่าว

 
ถามต่อว่า รพ.หลายแห่งกังวลว่า ถ้าไม่มีใบส่งตัวจะเบิกเงินกับสปสช.ไม่ได้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า เราสร้างความมั่นใจตลอด จริงๆโทรสอบถามสปสช.ได้ เพื่อยืนยันเรื่องนี้ เพราะระบบของสปสช.ในส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีใบส่งตัวไปนั้น ระบบมีมาก่อนระยะหนึ่งแล้วประมาณปี 2565 เพียงแต่ยืนยันว่าสนับสนุนให้ประชาชนรักษาใกล้บ้าน ยกเว้นอาการที่จำเป็นต้องส่งตัว และขออย่าเอาใบส่งตัวเพื่อวัตถุประสงค์เรื่องเงินมาเป็นประเด็น ซึ่งที่ผ่านมาเรามองว่าที่รพ.ต้องการใบส่งตัว อาจเพราะต้องการรู้ประวัติผู้ป่วยมากกว่า และในอนาคตหากมีการเชื่อมข้อมูลประเด็นใบส่งตัวเพื่อทราบประวัติผู้ป่วยก็จะหมดไป