แบงก์แห่ลดดอกเบี้ย กระทบกำไรกลุ่มปี 67 มากน้อยแค่ไหน ?

29 เม.ย. 2567 | 22:05 น.

โบรก ฯ ประเมิน ผลกระทบแบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ "บล.ทิสโก้" มองกรณีหากครอบคลุมรายย่อยทุกราย ผลกระทบยังจำกัด เฉลี่ย 1.2% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษี คงคำแนะนำ "ซื้อ" TTB , KKP บล.เอเซียพลัส เปิดโครงสร้างสินเชื่ออิง MRR รายแบงก์ คงประมาณกำไรตามเดิม

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากการประกาศโดยสมาคมธนาคารไทย (TBA) ว่าธนาคารพาณิชย์ได้ตกลงที่จะลดอัตราดอกเบี้ยรายย่อยที่เรียกเก็บกับลูกค้าชั้นดี (MRR) ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน 

โดย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นธนาคารพาณิชย์แรกที่ลดอัตรา MRR ลง 0.25% อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารกรุงเทพแล้ว การลดอัตราดังกล่าวใช้กับผู้กู้ทุกราย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม "เปราะบาง" เท่านั้น

ผลกระทบโดยรวมยังคงมีจำกัดในกรณีของ BBL

ในไตรมาส4/66 สินเชื่อรายย่อย BBL มีมูลค่า 3.21 แสนล้านบาท คิดเป็น 12% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร โดย 10% ของสินเชื่อรายย่อย หรือ 2.57 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสามารถคาดได้ว่าใช้อัตราดอกเบี้ย MRR ทั้งหมด ในขณะที่สินเชื่อ SME ที่ใช้อัตรา MRR ถือว่ามีน้อย ดังนั้น ผลกระทบจากการลดอัตรา MRR จึงประมาณการได้ที่ 321 ล้านบาท ( 2.57 แสนล้านบาท x 0.25% x 1/2 ปี) คิดเป็น 0.2% ของรายได้ดอกเบี้ยขั้นต้นประมาณการปี 2567 และ 0.6% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณการปี 2567
 

เพิ่มแรงกดดันให้กับคู่แข่งมากขึ้น

ธนาคารกรุงเทพระบุว่า เป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะผู้กู้ที่เปราะบางออกจากผู้กู้ที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง เนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่ำเพียง 10% ของสินเชื่อรวม จึงสามารถลดอัตราดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ที่ใช้อัตรา MRR ทุกรายได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ธนาคารอื่นๆ จะรู้สึกถูกกดดันมากขึ้นจากข้อเสนอที่ให้ประโยชน์มากกว่าของธนาคารกรุงเทพ

กรณี "ที่แย่ที่สุด" ผลกระทบต่อภาคธนาคารไม่น่ากังวล

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น คาดว่าจะมีข่าวในประเด็นนี้เร็วๆ นี้ โดยประเมินในกรณีที่แย่ที่สุดที่อัตรา MRR ใช้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด และการลดอัตราดอกเบี้ยมีผลกับผู้กู้ทุกราย ผลกระทบก็ยังคงมีจำกัด ธนาคารส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบระหว่าง 0.2-0.6% (เฉลี่ย 0.3%) ของรายได้ดอกเบี้ยขั้นต้นประมาณการปี 2567 และ 0.6-1.8% (เฉลี่ย 1.2%) ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณการปี 2567 แม้หากรวมผลกระทบจากสินเชื่อแก่ผู้บริโภคและ SME ด้วย ผลกระทบรวมที่ประมาณการได้ก็จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

บล.ทิสโก้ คงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) โดยมูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 2.50 และ 60.00 บาท ตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้" MRR MLR และ MOR" 0.25% ให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME รายย่อย ครอบคลุมกว่า 3 แสนบัญชี  เป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท มีผล 16 พ.ค.นี้

ด้านฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุว่า สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย ที่มีสัดส่วนสินเชื่ออิงกับ MRR สูง 3 อันดับแรก คือธนาคารกรุงไทย ( KTB ) มี SME และ บ้าน รวมกันราว 30% ของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงพอร์ตสินเชื่อบุคคล (ไม่รวมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของ KTC ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าราชการอิงกับ MRR อยู่ราว 22% ของพอร์ตสินเชื่อ ตามด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB) มีสัดส่วน สินเชื่อบ้าน และ SME รวมกันราว 48% ของพอร์ตสินเชื่อ และธนาคารกสิกรไทย( KBANK) มีสัดส่วนสินเชื่อบ้านและ SME รวมกันประมาณ 46% ของพอร์ตสินเชื่อ 

แบงก์แห่ลดดอกเบี้ย กระทบกำไรกลุ่มปี 67 มากน้อยแค่ไหน ? ทั้งนี้หากพิจารณาว่ากลุ่มเปราะบาง คือกลุ่มลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว รวมรายใหญ่,SME และรายย่อย ตามมาตรการของ ธปท. (สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2566) สัดส่วนเทียบพอร์ตสินเชื่อจะน้อยกว่าตัวเลขข้างต้น เช่น SCB ประมาณ 11% ของพอร์ตสินเชื่อ, KBANK ราว 8% ของพอร์ตสินเชื่อ

ดังนั้นตามความเห็นของของฝ่ายวิจัย ฯ  ผลกระทบต่อประมาณการกำไรไม่สูง สะท้อนจาก SENSITIVITY ANALYSIS กรณี WORST CASE บนสมมติฐานลด MRR ทั้งระบบและรับรู้เต็มปี จะกระทบกำไรกลุ่มฯ ราว 3.6% ในขณะที่ระยะเวลาการลด MRR ตามข้างต้นอยู่ที่ 6 เดือน และเฉพาะกลุ่มเปราะบางตามมุมมองของแต่ละธนาคาร ทำให้ประเมินผลกระทบต่อประมาณการจึงน้อยกว่า SENSITIVITY ANALYSIS พอสมควร

ทั้งนี้ กำไรสุทธิกลุ่มฯ งวดไตรมาสแรกปี 67 (1Q67) คิดเป็นสัดส่วน 27% ของประมาณการกำไรทั้งปี (รวมผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลางปีนี้ 1 ครั้ง) ด้วยผลจากประเด็นข้างต้นดูจำกัด ประกอบกับคาดหวังแรงส่งจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐกระจายเข้าสู่ระบบมากขึ้นช่วง 2H67 ช่วยลดแรงกดดันจาก NPL เกิดใหม่  เอื้อต่อการบริหารจัดการ ECL จึงคงประมาณการกำไรกลุ่มฯตามเดิม

มองว่าแรงกดดันต่อราคาหุ้นทยอยถูกสะท้อนในราคาหุ้นไปบางส่วนแล้ว ขณะที่ระยะเวลาช่วยเหลือ 6 เดือนและเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มองว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐบาลและภาคธนาคาร เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ประคองตัวระหว่างเศรษฐกิจไทยรอมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ 

โดยตัวเลือกในกลุ่มฯ ยังคงเลือก TTB มูลค่าที่เหมาะสม 1.98บาท , KBANK มูลค่าที่เหมาะสม 148 บาท ,BBL มูลค่าที่เหมาะสม 175 บาท , KTB มูลค่าที่เหมาะสม 19 บาท , TISCO มูลค่าที่เหมาะสม 106 บาท , SCB มูลค่าที่เหมาะสม 111 บาท และ  KKP มูลค่าที่เหมาะสม 49 บาท