บันทึกหน้าใหม่ SABUY หลัง "วิรัช มรกตกาล" กุมบังเหียน

20 มี.ค. 2567 | 04:59 น.

แม่ทัพใหม่ "วิรัช มรกตกาล" แจงธุรกิจ SABUY ยังดำเนินตามแผนเดิมที่อดีต CEO “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” วางไว้ มองปีนี้พ้นจุดต่ำสุด ส่งซิกครึ่งหลังปี 67 พลิกทำกำไร หลังปรับโครงสร้างธุรกิจเข้ารูป วางเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% แตะ 1.2 หมื่นล้านบาท

นายวิรัช มรกตกาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เปิดเผยว่า การเข้ามารับตำแหน่งในครั้งนี้ มองว่าเป็นการเข้ามาสานต่อความตั้งใจเดิมที่ นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ผู้ก่อตั้ง SABUY ได้วางเป้าหมายไว้ และได้เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ ทำให้ นายชูเกียรติ มีเวลาไปทำการตลาดและขยายตลาด ขยายฐานลูกค้า ไปบุกลงพื้นที่ เจรจากับพันธมิตรและคู่ค้าได้คล่องตัวเพิ่มมากขึ้นมากกว่าเดิม

โดยที่ นายชูเกียรติ ก็ยังไม่ได้ทิ้งไปไหน และยังคงดำรงตำแหน่ง "กรรมการ" ใน SABUY อยู่ ในส่วนของการเข้ามารับหน้าที่ "ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร" ของตนนั้น หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้ว SABUY จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่หรือไม่ จากนี้ SABUY จะดำเนินงานไปในทิศทางใด ก็ต้องบอกว่าแผนการดำเนินงานและเป้าหมายที่ นายชูเกียรติ เคยวางไว้ ยังคงดำเนินไปตามนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างมีนัยสำคัญ 

เพียงแต่ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้จะได้เห็นอะไรๆ ที่ลงรูปลงรอยมากขึ้น มีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า SABUY ได้มีการเข้าลงทุนในหลากหลายธุรกิจไปมาก ทำให้การรับรู้รายได้และกำไรค่อนข้างผันผวน สร้างฐานที่สูง แต่หากไปดูในงบการเงินจะเห็นได้ว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2566 รายได้เฉลี่ยในแต่ละไตรมาสเริ่มมีความนิ่งมากขึ้น ตกเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อไตรมาส จากนี้ไปมองว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2567 นี้ จะยังคงรักษาภาพนี้ไว้ได้

"อันที่จริงผมเข้ามาร่วมงานกับ SABUY ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.63 เข้ามาดูในส่วนของคอมเมิร์ซ และการลงทุน ของ SABUY ทำให้เรารู้มือกันอยู่แล้ว ที่ตกลงปลงใจมา ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อมือคุณชูเกียรติ ชอบในความลุยงาน มีมุมมองที่กว้างไกล จะเห็นได้ว่าการลงทุนของ SABUY ทั้งหมดที่ผ่านมา สามารถเอามาผนวกเป็น DEC Ecosystem ที่แข็งแกร่งได้ เพียงแต่ต้องมีการปรับให้เข้ารูปเข้ารอย ให้มีความคล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในปีนี้เองก็มองว่าการเก็บเกี่ยวกำไรน่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังนี้"นายวิรัช กล่าว

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า SABUY ทำธุรกิจอะไร เพราะไม่เห็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ธุรกิจตู้กดอัตโนมัติ (Vending) ก็ไม่เห็นแบรนด์ SABUY ที่ชัดเจน มีๆ หายๆ อันนี้เพราะว่า ตู้ Vending ของ SABUY เป็นเหมือนศูนย์กลางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าหลากหลายแบรนด์ มองพื้นที่ของตู้นั้นสามารถเอามาต่อยอดธุรกิจขายเป็นพื้นที่โฆษณาได้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีตู้ Vending ที่กระจายตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศแล้วกว่า 13,000 ตู้ เป็นอันดับ 2 ของตลาด จากสถิติตู้ Vending ทั่วประเทศที่คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 50,000-60,000 ตู้

ทั้งนี้ ในปี 2567 SABUY มุ่งเน้นธุรกิจหลัก 5 ตัวคือ SABUY, SBNEXT, PTECH, SABUY SPEED (กลุ่มธุรกิจ Drop-Off) และ Asphere โดยมุ่งเน้นเรื่องการหารายได้อย่างเข้มงวด โดยกวดขันเรื่องยอดขายต่อคน ต่อทีม ขยายตลาดไปยัง segment อื่น ขยายผลิตภัณฑ์ และการขยาย cross sell ภายในกลุ่มบริษัท เพื่อครอบคลุมความต้องการ และการตอบสนองของผู้บริโภคได้รอบด้านมากขึ้นนั้น จะส่งผลให้กระแสรายได้ของบริษัทฯ (Revenue Momentum) ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

 

คาดครึ่งหลังปี 67 พลิกทำกำไร

แผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20% หรือแตะที่ระดับ 12,000 ล้านบาท จากปี 2566 ที่ทำได้ 9,629.82 ล้านบาท โดยแรงขับเคลื่อนธุรกิจหลักๆ ในปีนี้ มาจากกลุ่มธุรกิจ SBNEXT และ SABUY SPEED ซึ่งจากการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ผู้ก่อตั้ง SABUY ทำให้บริษัทมีการให้บริการที่มีความหลากหลาย สามารถสร้างรายได้จากหลายช่องทาง

ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กรใหม่ ให้มีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มองว่าในปี 2567 นี้ ผลการดำเนินงานจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาของการกลับมามีกำไรที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/2567 นี้ และมีการเพิ่มขึ้นของกำไรอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/2567 เป็นต้นไป จากปี 2566 ที่บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ราว 190 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนกลุ่มธุรกิจ SBNEXT บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาท จากปี 2566 ที่มีรายได้อยู่ที่ 1,609.6 ล้านบาท จุดเด่นคือ มีทีมขายที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตามบ้านได้ มีแผนจะขยายช็อปผ่อนสบายในช่วงครึ่งแรกปีนี้ให้เพิ่มเป็น 10 สาขา จากสิ้นปีก่อนที่มีแล้ว 6 สาขา รวมถึงมีแผนขยายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีความหลากหลาย ทั้งแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการ ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด และให้ความสำคัญในการบริหาารจัดการพอร์ตผ่อนสบายให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ด้านธุรกิจ SABUY SPEED บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1,123.8 ล้านบาท ในปี 2567 นี้ บริษัทยังคงเดินหน้าในการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการให้กว้างมากและลึกขึ้น จากปัจจุบันที่มีช็อปแล้วกว่า 22,000 แห่งทั่วประเทศ หรือทุกอำเภอ รวมถึงเพิ่มการให้บริการอื่นๆ มากขึ้น นอกเหนือจากส่วนเสริมอย่างอีคอมเมิร์ซ ที่มีของดีๆ ช่วยขายได้ มี SABUY Counter มี แบงกิ้งทรานเซ็กชั่น และการรับชำระเงิน

ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Food Court CRM และ POS นั้น ปัจจุบันบริษัทให้ความสนใจเข้าไปทำระบบชำระเงินในส่วนศูนย์อาหารภายในโรงงานขนาดใหญ่ หรือที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน ที่ผ่านมาได้มีเข้าไปให้บริการแล้ว 3-4 โรงงาน โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 300 โรงงาน โดยจะมุ่งเน้นในภาคตะวันออกที่มีนิคมอุตสาหกรรมและมีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มฐานลูกค้าเดิมที่มีการใช้บริการด้านพิมพ์บัตร (บัตรพนักงาน) อยู่แล้ว เป็นการเข้าไปต่อยอดธุรกิจที่มีในมือเพิ่มเติม

ส่วนการลงทุนใหม่ๆ ในปี 2567 นั้น อาจต้องชะลอตัวไปก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดระเบียบธุรกิจที่มีในมือให้สามารถสร้างผลผลิตในระดับที่ดีและมีการเติบโตอย่างมีศักยภาพได้ ส่วนในปี 2568 บริษัทอาจมีแผนกลับมามีการลงทุนอีกครั้ง ตามเป้าหมายการขยายตลาดในระดับภูมิภาค ปัจจุบันบริษัทให้ความสนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาทั้งในประเทศเมียนมา และสปป.ลาว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะได้เห็นความชัดเจนเมื่อไหร่ และจะเข้าไปทำในส่วนไหน เพราะแต่ละประเทศมีความต้องการแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน