คืบ! ก.ล.ต.ผ่านหลักการมาตรการคุมเข้ม"ชอร์ตเซล - โรบอทเทรด" คาดเริ่มQ3 ปีนี้

11 มี.ค. 2567 | 09:15 น.

เลขาฯ "พรอนงค์ บุษราตระกูล" เผย ก.ล.ต. เห็นชอบหลักการมาตรการเพิ่มเติมการกำกับ"ชอร์ตเซล-โรบอทเทรด" ป้องปรามการขาย Naked Short ตามที่บอร์ดตลท.เสนอ คาดเริ่มดำเนินมาตรการภายในไตรมาส 3/2567 เปิดรายละเอียดมาตรการที่นี่

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการกำกับ Short Selling  (SS ) และ Program Trading ( PT) ว่า จากปริมาณการทำ SS ที่เพิ่มขึ้นประกอบการภาวะตลาดหุ้นในปัจจุบันที่ไม่มีปัจจัยบวกที่ไม่เด่นชัด จึงทำให้เกิดความผันผวนส่งผลให้ราคาตลาดปรับในทางลดลง ซึ่ง ก.ล.ต.มีโจทย์ในการกำกับดูแล SS และการผ่านหลักการเห็นขอบมาตรการกำกับเพิ่มเติมครั้งนี้  ก.ล.ต. มองถึงผลต่อตลาดเป็นหลัก จึงได้เพิ่มเกณฑ์คุณภาพหุ้นที่จะทำ SS (  Eligible Securities) โดยการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market cap) ต้องเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่  และเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งเทียบได้กับสากล ทำให้หุ้นที่จะทำ SS ได้มีจำนวนลดลง 

การเพิ่มการใช้ Uptick Rule ให้คนที่ขาย SS มีต้นทุนสูงขึ้น หากราคาหุ้นปรับลดลงตั้งแต่ 10% ขึ้นไป ( ของราคาปิดวันก่อนหน้า )  เพื่อช่วยลดความผันผวน นอกจากนี้เพิ่มการทำหน้าที่ผู้เก็บรักษาทรัพย์สิน (Custodian) โดยให้คัสโตเดี้ยน แจ้งวัตถุประสงค์การโอน เพื่อการสอบยันการทำรายการยืม

 

"มาตรการในเรื่อง Short Selling   และ Program Trading ก.ล.ต.ได้เห็นชอบในหลักการตามที่คณะกรรมการ ตลท.เสนอ ( 21 ก.พ.67 ) แล้วคาดในไตรมาส 2/67 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือเฮียริ่งจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  และในบางมาตรการน่าจะประกาศใช้ได้ก่อนภายในไตรมาส 3/67 หลังจากนั้นจะขอดูผล 6 เดือนว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร ต้องมีอะไรต้องปรับแก้ไขเพิ่มเติม ยกตัวอย่างในเรื่องเกณฑ์คุณสมบัติ หุ้นที่จะทำ SS ได้  ตามเกณฑ์ใหม่ระบุต้องมี Market cap เป็น 7,500 ล้านบาท ก็อาจเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท รอขอดูผลก่อน " เลขาฯ ก.ล.ต. กล่าว

ด้านนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณธุรกรรม SS เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 5% ของมูลค่าซื้อขายรายวันเฉลี่ยทั้งตลาดในปี 2565 เพิ่มเป็น 6% และ 7% ในปี 2566 และ 2 เดือนแรกของปี 2567 ตามลำดับ  โดยมาจากนักลงทุนต่างประเทศ ( foreign trading) สัดส่วน 79%  และเป็นรายย่อยเพียง 3% ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่ม SET 100 อย่างไรก็ดีจากสภาพปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้นในเรื่อง Naked Short Selling  อาทิ เป็นธุรกรรม SS ที่ไม่เปิดเผย ,การไม่ทำตาม price rule  แจ้งว่า covered SS แต่ไม่ยืมหรือมีหุ้นก่อน และผู้ลงทุนไม่ covered และไม่สามารถหาหุ้นส่งมอบได้ อีกทั้ง บล.กำกับดูแลผู้ลงทุนต่างประเทศยาก รวมทั้งกฏหมายก็ยังไม่สามารถเอาผิดได้   

 

คืบ! ก.ล.ต.ผ่านหลักการมาตรการคุมเข้ม\"ชอร์ตเซล - โรบอทเทรด\" คาดเริ่มQ3 ปีนี้

 

 

ตลท.- ก.ล.ต. จึงได้เห็นชอบปรับเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกรรม SS เพื่อเป้าหมายเพิ่มกลไกความเชื่อมั่นในการซื้อขาย โดยแนวทางในการปรับปรุงได้แก่ การเพิ่มคุณภาพหุ้นที่สามารถทำ SS (Eligible Securities) เพิ่มเงื่อนไขของหุ้นกลุ่ม Non-SET100  โดยเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด Market cap  จากเดิมที่ระบุหุ้นที่จะทำ SS ได้ต้องมีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป ซึ่งมีหุ้นราว 292 หุ้น หรือประมาณ 36% ของตลาด  แต่เกณฑ์ใหม่ต้องมี  Market cap ระดับ 7,500 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้นจะทำให้มีหุ้นที่ทำ SS ได้ลดลงเหลือ 28% ของตลาด หรือลดลงราว 60 หุ้น เหลือหุ้นที่จะทำธุรกรรม SS ได้จำนวน 232 หุ้น และกำหนดต้องเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่อง (turnover)ต้องไม่น้อยกว่า 2% ต่อเดือน 

ปรับปรุงเกณฑ์ซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (trading rules) เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ โดยเพิ่มการใช้ราคาขายชอร์ตที่ต้องสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เมื่อราคาหุ้นลดลงตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของราคาปิดวันก่อนหน้า กำหนดเพดานขายชอร์ตรายหลักทรัพย์รายวัน ,เปิดเผยยอดขายชอร์ตคงค้างรายวัน (Outstanding short position)

 

คืบ! ก.ล.ต.ผ่านหลักการมาตรการคุมเข้ม\"ชอร์ตเซล - โรบอทเทรด\" คาดเริ่มQ3 ปีนี้

สำหรับมาตรการกำกับดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) ก.ล.ต.มีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มกลไกสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายโดยรวม โดยดำเนินการให้สามารถรู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้  กำหนดให้ผู้ลงทุนประเภท HFT ต้องมีการขึ้นทะเบียน ทบทวนพฤติกรรมไม่เหมาะสม  การเพิ่มลักษณะคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้ครอบคลุมพฤติกรรมการซื้อขายในปัจจุบัน จัดทำระบบกลางคัดกรองคำสั่งไม่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของคำสั่งที่เข้ามา ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ พื่อป้องกันคำสั่งใส่ถอนถี่เกินไป (spoofing) ส่วนในเรื่องกลไกควบคุมความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ทบทวนเกณฑ์การดำเนินการ (sanction) กับลูกค้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม  ตลท.จะเปิดเผยรายชื่อลูกค้าที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมให้ทุก บล.ทราบ เพื่อให้ดำเนินการตามที่กำหนด