คดีใหม่ กรมบังคับคดี พุ่ง 3.19 แสนล้านบาท

15 เม.ย. 2567 | 04:52 น.

กรมบังคับคดีเผย 5 เดือนปีงบ 67 ไกล่เกลี่ยหนี้สำเร็จกว่า 96% คืบหน้า 26% จากเป้าทั้งปี 1 แสนล้านบาท คดีเกิดใหม่ 3.19 แสนล้านบาท ยังมีคดีค้าง 2.6 ล้านคดี มูลหนี้รวม 15 ล้านล้านบาท กระตุ้นลูกหนี้กยศ.เข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้

นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมบังคับคดีมีปริมาณคดีที่อยู่ในชั้นบังคับคดี (ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่ยังไม่ได้บังคับคดีหรือยังไม่ได้ยึดทรัพย์) ประมาณกว่า 2.6 ล้านคดี คิดเป็นทุนทรัพย์รวม 15 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีงบประมาณ 2567 มีสำนวนคดีให้เข้าสู่กรมบังคับคดีรวม 193,518 เรื่อง ทุนทรัพย์ 319,213.06 ล้านบาท

นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี

ทั้งนี้ตั้งแต่ต.ค.66 -ก.พ.67 มีสำนวนคดีเกิดใหม่ทางแพ่งรวม  1.78 แสนคดี ทุนทรัพย์ 2.31 แสนล้านบาทและการบังคับคดีล้มละลายเกิดใหม่ 14,616 เรื่อง ทุนทรัพย์ 8.78 หมื่นล้านบาท โดยหากพิจารณาช่วงระยะเวลา 6 ปี (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2567)พบว่า คดีแพ่งเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8.66% และคดีล้มละลายเกิดใหม่เพิ่มขึ้น 7.44% ต่อปี

ส่วนความคืบหน้าการผลักดันทรัพย์สิน 5 เดือนแรกของปีนี้ กรมบังคับคดีสามารถระบายทรัพย์ได้แล้ว 105,631 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการถอนการยึดทรัพย์คิดเป็น 41.91% รองลงมาคือการงดการบังคับคดี 32.04% และการขายทอดตลาดได้ 26.05%

อย่างไรก็ตาม (ข้อมูล ณ วันที่5 มี.ค.67 ) สถิติการบังคับคดีทางแพ่งค้างดำเนินการรวม 5.88 แสนเรื่อง ทุนทรัพย์ 1,009,561 ล้านบาทส่วนใหญ่เป็นสำนวนอายัดทรัพย์สิน 3.5 แสนเรื่อง ทุนทรัพย์ 1.76 แสนล้านบาทคิดเป็น 59.48% สำนวนขายทอดตลาด 1.87 แสนเรื่อง ทุนทรัพย์ 5.13 แสนล้านบาท คิดเป็น 31.75% และยึดทรัพย์สิน 39,874 เรื่อง ทุนทรัพย์ 3.20 แสนล้านบาท

สถิติสำนวนเกิดใหม่ กรมบังคับคดี

ขณะเดียวกัน กรมบังคับคดีพยายามจะให้โอกาสคู่ความเจรจาชำระหนี้หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ โดยให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งกรมบังคับคดีร่วมกับสถาบันการเงินกว่า 30 แห่งดำเนินการไกล่เกลี่ยทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้มีจำนวนเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 16,735 เรื่อง ทุนทรัพย์ 7,657 ล้านบาท สามารถไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 16,088 เรื่อง ทุนทรัพย์ 7,119 ล้านบาท คิดเป็น 96.13% ที่เหลือยังมีคดีที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ 647 เรื่อง ทุนทรัพย์ 538 ล้านบาท

“ผลการไกล่เกลี่ยปีนี้สำเร็จเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเราทำงานแบบบูรณาการกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรวมถึง 30 สถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยพยายามเชิญคู่กรณีก่อนดำเนินการฟ้องคดีเข้ามาให้ได้มากที่สุด ซึ่งเรามีเป้าหมายไกล่เกลี่ยให้มากกว่าปีที่แล้วที่ทำได้กว่า 3 หมื่นคดี และทางธปท.ออกหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ขณะที่สถาบันการเงินพร้อมชะลอฟ้องคดีหรือขายทอดตลาด ส่วนการประมูลขายทอดตลาดปีนี้ไม่ค่อยมีผู้ซื้อ ส่วนหนึ่งเพราะแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ” นายเสกสรรกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าการผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบระบบการบังคับคดีพบว่า ผลการผลักดันทรัพย์สินในแต่ละเดือนมีความไม่แน่นอนและยากแก่การคาดการณ์ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น ประเภทของทรัพย์สิน ลักษณะของทรัพย์สิน สภาพของทรัพย์สิน ทำเลที่ตั้งของทรัพย์สิน รวมถึงความต้องการของตลาดและภาวะเศรษฐกิจอันส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนด้วย

ประกอบกับได้มีการส่งเสริมให้คู่ความเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทชั้นบังคับคดี อันเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการเจรจาชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่คู่ความยอมรับส่งผลให้มีการงดบังคับคดีถอนการยึดหรือถอนการบังคับคดี โดยไม่ต้องนำทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาด จึงมีจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดลดลง

ทั้งนี้ตามผลผลักดันทรัพย์สินด้วยการขายทอดตลาดจำแนกตามประเภททรัพย์พบว่า ประเภททรัพย์สินที่ขายได้มากที่สุดในคดีแพ่งคือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีคดีค้างดำเนินการเกิน 10 ปี ที่อยู่ในชั้นกรมบังคับคดี 9,327 เรื่อง ทุนทรัพย์ 37,027 ล้านบาท ราคาประเมิน 25,112 ล้านบาท

สำหรับแผนการดำเนินงานปีนี้ กรมบังคับคดีปีนี้ต้องดำเนินการใน 3เรื่องคือ

  1. ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยให้ลูกหนี้เข้าร่วมทั่วประเทศได้มีโอกาสลดหนี้ ลดการบังคับดี,ลดการขายทอดตลาด
  2. เสนอแก้กฎใหม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องการคิดค่าธรรมเนียมทางแพ่งและการถอนการบังคับดี กรณีลูกหนี้ต้องชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งกรมฯได้เสนอกฎหมายให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนี้ไว้ เพราะลูกหนี้บางรายมีเงินไม่พอ ไม่สามารถชำระได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้
  3. เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พรบ.) ล้มละลาย เพื่อให้ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถร้องขอฟื้นฟูกิจการได้

นอกจากนี้ ยังฝากประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่อยู่ในชั้นกรมบังคับคดีประมาณกว่า 4 หมื่นราย ให้เข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ก่อนฟ้องและหลังฟ้อง ซึ่งการแก้ไขกฎหมายใหม่ ทำให้วิธีการชำระหนี้แตกต่างจากเดิม โดยการชำระค่างวดจะตัดเงินต้นก่อนและให้มีผลย้อนหลังด้วย

“หากลูกหนี้กยศ.เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย ปรับปรุงโครงสร้าง เซ็นสัญญารับสภาพหนี้ช่วยลดหนี้ให้น้อยลง ลดดอกเบี้ยค่าปรับเหลือ 0.5% และผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก” นายเสกสรรกล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,983 วันที่ 14 - 17 เมษายน พ.ศ. 2567