เปิดกำไร 9แบงก์ไตรมาสแรกปี67 รวม49,995ล้านบาทหลังตั้งสำรองเพิ่ม17.9%

20 เม.ย. 2567 | 01:12 น.

ธนาคารพาณิชย์ไทย 9แห่งรายงานโชว์กำไรไตรมาสแรกปี67 ขยับ 1.2% เป็น 49,995ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน 3แบงก์ตั้งสำรองหนี้กดกำไร “ BAY TISCO KKP” ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น 2.6%แตะ 3.9แสนล้านบาท

เปิดกำไร 9แบงก์ไตรมาสแรกปี67 รวม 4.99หมื่นล้านบาทหลังตั้งสำรองเพิ่ม 17.9%

ธนาคารพาณิชย์ไทย 9แห่งรายงาน ผลประกอบการประจำไตรมาสแรกปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่า   มีกำไรสุทธิรวมกัน 49,995ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 49,395.5ล้านบาท  โดยกำไรที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ การขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการลงทุน ประกอบกับ บางธนาคารสามารถขยายรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากบริการประกันผ่านธนาคาร  และรายได้การดำเนินงานอื่นๆ ส่งผลให้โดยรวมมีการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)

เห็นได้จาก  ธนาคารกรุงเทพ NIMอยู่ที่ 3.06%%โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.84%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ธนาคารกรุงไทย อยู่ที่ 3.3%จาก 3.0%  ธนาคารไทยพาณิชย์  3.83%จาก 3.46%  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อยู่ที่ 4.16%จาก 3.91%   ธนาคารทีทีบี อยู่ที่  3.28% จาก 3.08% 

ธนาคารทิสโก้ อยู่ที่ 4.76% จาก 4.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP) อยู่ที่ 4.9% จาก 5.2%  ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย อยู่ที่ 2.2% จาก  2.6%  อยู่ที่ 2.2% จาก 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและแอลเอชเอฟจีอยู่ที่ 2.33% จาก 2.49%

อย่างไรก็ตาม   5ธนาคารที่มีผลกำไรสุทธิลดลงนั้น ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรอง ภายใต้นโยบายการบริหารความเสี่ยงรอบคอบระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจกระทบคุณภาพสินเชื่อในอนาคต ทั้งในประเทศและต่างประเทศนำโดย แอลเอชเอฟจี-29.7  เกียรตินาคินภัทร -27.7%  ซีไอเอ็มบีไทย -24.5%กรุงศรีอยุธยา -13.0% 

เปิดกำไร 9แบงก์ไตรมาสแรกปี67 รวม49,995ล้านบาทหลังตั้งสำรองเพิ่ม17.9%

ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลรวม 3.9แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.6%จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.8แสนล้านบาทนำโดยแอลเอชเอฟจี 32% กรุงศรีอยุธยา 23.7% เคเคพี 15.7% ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 46,138ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,003ล้านบาทหรือ 17.9%

ส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ นำโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาตั้งสำรองฯจำนวน 12,271ล้านบาทเพิ่มกว่า 111% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5,799ล้านบาท รองลงมาคือ TISCO  เพิ่มขึ้น 80%จำนวน 279.04ล้านบาท จาก 155.39ล้านบาท ตามด้วยทีทีบีจำนวน 5,117ล้านบาทเพิ่มขึ้น 19.7%  

ทั้งนี้  ธนาคารกรุงเทพประเมินภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ความขัดแย้งทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์โลกรวมถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากบริบทโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎเกณฑ์ของทางการ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่กระทบการดำเนินธุรกิจ 

ธนาคารกรุงเทพในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ยังคงมุ่งเน้นให้คำแนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนการสร้างพันธมิตรในระบบนิเวศทางธุรกิจ และการลงทุนใหม่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้ ธนาคารพร้อมสนับสนุนลูกค้าให้ได้ประโยชน์จากโอกาสในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

สอดคล้องกับธนาคารกรุงไทยประเมิน เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลง และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการผลิตและการส่งออก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการขยายวงและต่อเนื่อง และสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน รวมถึงแรงกดดันจากภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง

ขณะที่ธุรกิจ SME บางส่วนเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นจึงฟื้นตัวได้ช้า  ธนาคารกรุงไทย มุ่งเน้นการเติบโตแบบยั่งยืนพร้อมบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยรักษา Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ  และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูง

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2567 ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวที่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ช้าลง โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคบริการ ด้วยแรงส่งจากการท่องเที่ยว รวมถึง การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการผลิตในบางประเภทอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณฯ ประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ยังคงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญในไตรมาสที่ผ่านมา ภายใต้บริบทความท้าทายดังกล่าว กรุงศรียังคงมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยเคร่งครัด