"อนุพงษ์" แจงสภา รัฐปลดหนี้แสนล้านแลกขยายสัมปทานสายสีเขียว

10 ก.ย. 2563 | 11:31 น.

ประชุมสภา "มท.1” ทวนความจำ “ยุทธพงษ์” ส.ส.เพื่อไทย ชี้ ต้นตอปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเริ่มตั้งแต่ปี 51 ขณะที่ “คสช.” เข้ามาแก้ปัญหา ยัน คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นพิจารณา มีความโปร่งใส-ยึดประโยชน์ประชาชนสูงสุด-ไม่มีเอื้อเจ้าสัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาเพื่ออภิปรายทั่วไป พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลุกขึ้นชี้แจงข้อกล่าวหาของ นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร  ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กรณีรัฐบาลเตรียมขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กลุ่มบีทีเอส เป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีข้อกังขามาหลายครั้งว่า เอื้อนายทุนและมีผลประโยชน์ต่างๆ จึงอยากเรียนให้ทราบว่า เรื่องทั้งหมดเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เริ่มตั้งแต่โครงสร้างทางกายภาพในส่วนแรก เรียกว่า สายสีเขียวหลัก  หรือ  สายสีเขียวเข้ม  ซึ่งการดำเนินการในช่วงเริ่มต้นนั้นทางบีทีเอสก่อสร้างโดยใช้งบประมาณของตนเอง เป็นสายเดียวในประเทศไทยที่เอกชนลงทุนเอง รัฐไม่ได้ลงทุนให้ โดยผลประโยชน์ตอบแทนคือ ค่าโดยสารที่เก็บได้ในช่วงสัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 

 

ต่อมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ก่อสร้างเพิ่มเติม เรียกว่า “ส่วนต่อขยาย 1” โดยใช้งบประมาณของ กทม. และขยายสัมปทานให้บีทีเอสเดินรถ เมื่อหมดระยะเวลาสัมปทานในปี 2572 สายสีเขียวเข้มทั้งหมดจะตกเป็นของ กทม. 

 

แต่ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อรัฐบาลสมัยปี 2551 ได้ไปมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปสร้างส่วนต่อขยายทางเหนือและทางใต้ หรือ “ส่วนต่อขยาย 2”  เรียกว่า สายสีเขียวเหนือกับสีเขียวใต้  แต่ก็มีปัญหาขาดทุน ต้องจ้างเดินรถ และมีภาระหนี้กว่า 7 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจึงโอนโครงสร้างทั้งหมดของ รฟม.ไปให้ กทม.ดำเนินการ ซึ่งก็ทำให้มีปัญหาตั้งแต่แรกเช่นกัน  คือ ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารแพงถึง 158 บาท และต้องเสียค่าแรกเข้า หากเดินทางข้ามส่วนต่อขยายจะต้องเปลี่ยนรถหลายครั้ง ถ้าไม่เก็บค่าแรกเข้าจากประชาชน ก็ต้องผลักภาระไปให้ กทม. ประกอบกับ กทม.มีภาระหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบหลายหมื่นล้าน รวมทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ และการเดินรถ รวมๆ แล้วเป็นแสนล้าน นี่คือปัญหาที่เกิดกับ กทม. จึงมีแนวคิดจะแก้ปัญหาด้วยการร่วมทุน 


หากรัฐบาลจะเข้าไปช่วย หนี้ก็ต้องกลายเป็นหนี้สาธารณะ กลายเป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของ กทม.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงแห่งเดียวจาก 7,580 แห่งในประเทศไทย ส่วนการจะไปยกเลิกสัมปทานก็เป็นไปไม่ได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กมธ.ชงตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ

นายกรัฐมนตรี แจง สภา บอกจะอยู่ต่อเพื่อเคลียร์ปัญหา

“สันติ”ยันยืดสัญญารถไฟฟ้าให้บีทีเอสถูกต้อง-ปัดเอื้อนายทุน

“ยุทธพงศ์”ถล่มรัฐเอื้อเอกชนขยายสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  เกรงว่า หากปล่อยให้ครบอายุสัญญาสัมปทาน คือ ปี 2572 การสรรหาเอกชนรายใหม่ต้องใช้เวลา 2-3 ปี และต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น คสช.จึงมีแนวทางดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น  จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้เพื่อแก้ปัญหาโดยไม่ให้รัฐบาล  กทม. และประชาชนมีภาระ รวมทั้งได้รับประโยชน์สูงสุด 

 

ขอให้มั่นใจว่า คณะกรรมการที่เป็นผู้มีอำนาจอยู่ในกระบวนการ และให้มั่นใจว่า จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ส่วนการเจรจานั้น อยู่บนพื้นฐานของประชาชนที่จะได้ค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม สามารถเดินทางได้ตลอดสาย ค่าโดยสารทั้งสายไม่เกิน 65 บาท อีกทั้ง กทม.และรัฐบาล ไม่มีภาระหนี้สิน รวมถึงผลตอบแทนลงทุนของเอกชนอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ยืนยันว่า ค่าโดยสารไม่ได้สูงที่สุดในโลกอย่างที่พูดกัน