"การบินไทย" ล้มละลาย รัฐได้ไม่คุ้มเสีย

12 พ.ค. 2563 | 08:39 น.

นักวิเคราะห์ฟันธง หากปล่อย "การบินไทย"ล้มละลาย ความเสียหายไม่พ้นรัฐต้องแบกรับในฐานะผู้ค้ำหนี้ และผู้ถือหุ้นใหญ่ เชื่อรัฐเลือกที่จะอุ้มใส่เงิน 7 หมื่นล้าน ผ่าตัดองค์กร-ขายกิจการ เหลือธุรกิจหลัก

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) THAI ณ ขณะนี้ต้องถือว่าการเข้าวิกฤติครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้การบินไทยมีปัญหาก็จริง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นจะล้มละลายเหมือนครั้งนี้

 

ต่การจะปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย ปัญหาไม่ได้จบง่ายๆ ความเสียหายหลังกิจการล้มจะสูญเสียมาก และไม่พ้นที่รัฐบาลต้องเป็นผู้แบกรับภาระเสียเอง ในฐานะที่รัฐเป็นทั้งผู้ค้ำหนี้ให้กับการบินไทย และกระทรวงการคลังยังถือหุ้นใหญ่ 51.03% 

 

"การบินไทย" ล้มละลาย รัฐได้ไม่คุ้มเสีย

 

"การบินไทยเกี่ยวข้องกับการเดินทาง เกี่ยวข้องในเรื่องชีวิตคน  ถามว่าถ้าการบินไทยล้ม คนไทยที่เดินทางอยู่ทุกวันจะทำอย่างไร  มาร์เก็ตแชร์การบินไทยสร้างมาถึงวันนี้ จะโยนแชร์ไปให้สายการบินต่างชาติงั้นเหรอ ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลเองก็มีทางเลือกไม่มาก  จึงเชื่อว่ารัฐไม่ใช้ยาแรงแน่นอน "

สำหรับทางออก ส่วนตัวมองว่ารัฐจะเลือกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของการบินไทย ด้วยการให้คงความเป็นรัฐวิสาหกจต่อไปก่อน จากนั้นใส่เงินเข้าไปฟื้นฟู  5-7 หมื่นล้านบาท และระหว่างทางก็แก้โจทย์ใหญ่ ผ่าตัดองค์กร ตัดแบ่งขายกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เพื่อให้เหลือธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักจริง ๆ จากนั้นถึงจะเพิ่มทุน 

 

"การบินไทย" ล้มละลาย รัฐได้ไม่คุ้มเสีย

 

"ตอนนี้หากเพิ่มทุนไป 2 แสนล้านบาท ก็ขายไม่ได้อยู่ดี  ใครจะเสี่ยงกล้ามาลงทุนซึ่งรัฐบาลคงไม่เลือกเพิ่มทุน จนกว่าจะมีการผ่าตัด และแต่งตัวใหม่ให้กับการบินไทย นั่นคือตัว ธุรกิจหลัก ที่จะเป็นตัวเพิ่มทุน " นายมงคล ให้ความเห็น

นายมงคล มองว่า ปัญหาการบินไทย มีมาอย่างยาวนานเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้  ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาดูเป็นระยะๆ โดยตั้งแต่การบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีการเพิ่มทุนสำเร็จไปแล้วครั้งหนึ่ง และมีความพยายามที่จะเพิ่มทุนอีกครั้งเมื่อช่วง 2-3 ปีที่แล้วในช่วงของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีเช่นกัน 

 

"การบินไทย" ล้มละลาย รัฐได้ไม่คุ้มเสีย

 

แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขทั้งในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังที่ต้องดำรงไว้เพื่อให้คงความเป็นรัฐวิสาหกิจ วงเงินเพิ่มทุนที่จะใช้ และภาระหนี้ที่สูงมากของการบินไทย อีกทั้งทิศทางหลังใส่เงินแล้วจะแก้ไขได้ไหม ไม่มีใครรู้ ตราบใดที่ยังไม่มีการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ทำให้การบินไทยไม่สามารถระดมทุน หาผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามา

 

"ไม่ว่าจะรัฐบาลจะเลือกทางออกไหน รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้แบกรับอยู่ดี เพราะถือหุ้นใหญ่ และด้วยสถานการณ์ขณะนี้ การจะแก้ด้วยการเพิ่มทุนเลย ถือว่าเร็วไป คุณยังไม่แก้แล้วจะโยนบ้านที่มีปัญหา ให้คนมาใหม่ไปแบกรับอย่างนั้นเหรอ เชื่อว่ารัฐบาลไม่เลือกเพิ่มทุนตอนนี้ และก็ไม่เลือกใช้ยาแรงปล่อยให้ล้ม"

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ยันไม่ทิ้ง“การบินไทย” แต่แผนต้องชัด

“การบินไทย” เพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ผ่าตัดใหญ่เป็นโฮลดิ้ง

ชำแหละภาระหนี้"การบินไทย" ไขปมกู้เงิน 5 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่อง

นายกฯยื่นคำขาดโอกาสครั้งสุดท้าย ฟื้นฟู"การบินไทย"