ธปท.ชี้กรอบเงินเฟ้อปี 63 ช่วง 1-3% เหมาะสม

24 ธ.ค. 2562 | 11:32 น.

ครม.อนุมัติกรอบเงินเฟ้อ ช่วง 1-3% สำหรับปี 2563 และระยะปานกลาง ธปท.ชี้เป็นระดับที่เหมาะสมไม่มีค่ากลาง เพิ่มความยืดหยุ่น คาดจะเริ่มเข้ากรอบล่างใน 5 ปีขึ้นอยู่กับ "ภาวะช็อค-ราคาพลังงาน-อาหารสด"

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินใหม่ ตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3 % (เดิมที่มีค่ากลางที่ "2.5%บวกลบ1.5%" ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2558) โดยเป็นกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2563

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาระยะหลังอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มที่ต่ำลงทั้งจากปัจจัยราคาพลังงาน ราคาอาหารสดที่ไม่ได้ปรับขึ้นสูง และแรงกดดันด้านดีมานด์ ซึ่งสาเหตุการปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อใหม่มาจาก 3 ปัจจัยโครงสร้างคือ 1.การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงหรือปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น (เช่น น้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) 2.การขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ที่ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นจนผู้ขายปรับราคาสินค้าขึ้นยากแต่สามารถทำตลาดกว้างทั่วโลก และผู้ซื้อๆสินค้าในราคาถูกที่สุดและ 3.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งมีรายได้หลังเกษียณลดลง มีความจำเป็นต้องออมเงินและลดการใช้จ่ายลงจึงทำให้การบริโภคสินค้าและบริการในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป

 

เมธี สุภาพงษ์ 

 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ต่ำและมีความยืดหยุ่นไม่มีค่ากลาง  เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกและไทยผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ประเทศไหนปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อบ้าง

"โอกาสจะทะลุกรอบมีโอกาสน้อยระดับช่วง 1-3% จึงเหมาะสมกับเป้าหมายระยะปานกลาง 3 ถึง 5 ปีและปีหน้าเงินเฟ้ออย่างต่ำไม่ได้มีความเข้มงวด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเข้ากรอบล่างใน 5 ปีในอีก 5 ปีแต่ขึ้นอยู่กับภาวะช็อค ราคาพลังงานและราคาอาหารสด"

 

นายเมธีระบุว่า ธปท.จะออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือนหากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตามการปรับลดเป้าหมาย เงินเฟ้อครั้งนี้ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณจะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินแต่อย่างใด โดยการตัดสินใจ นโยบายการเงินยังคงยึดหลัก Data  Dependent โดยพิจารณาตามข้อมูลรอบด้านทั้งปัจจุบันและอนาคตพร้อมปรับนโยบายเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงจากที่ประเมินไว้และให้น้ำหนักรักษาสมดุลของการดูแลเป้าหมายนโยบายการเงินมากขึ้นทั้ง 3 ด้านได้แก่  1. การรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง 2.การดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และ 3.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

เมธี สุภาพงษ์ 

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาธนาคารกลางที่ปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไปแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ปรับจาก 2.5-3.5% เป็นระดับ 2% และนอร์เวย์ ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อลงเป็น 2% จากเดิมอยู่ที่ 2.5% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำลงจากปัจจัยโครงสร้าง